แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดต้องการเดินทางไปต่างประเทศโดยวิธีผิดกฎหมาย จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย แม้เป็นข้อที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกามิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตามแต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงยกขึ้นอ้างได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกับพวกหลอกลวงโจทก์ด้วยการ แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอก ให้แจ้งว่าสามารถทำหนังสือเดินทางคนประจำเรือพาโจทก์ เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น ได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า ทำให้โจทก์ หลงเชื่อว่าเป็นความจริง โจทก์จึงมิได้ร่วมกระทำความผิด กับจำเลย จึงไม่ต้องวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยต่อไป ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ มีอำนาจ ฟ้องจำเลยหรือไม่
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทำนองเดียวกันขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 341, 343และขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4085/2537 หมายเลขแดงที่ 5441/2538 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลทั้งสามสำนวนให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธทั้งสามสำนวน แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวจากสารบบความทั้งสามสำนวน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 1 ทั้งสามสำนวนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83 ลงโทษจำคุกสำนวนละ 8 เดือน รวมโทษจำคุก 24 เดือน นับโทษต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4085/2537 หมายเลขแดงที่ 5441/2538 ของศาลชั้นต้น ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 นำสืบรับกันฟังได้ยุติว่าจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทฟูจิโยชิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้น นางสุมาลี ผิวสะอาด ได้พานายธนะ วรรณวงศ์ ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจากโจทก์ทั้งสามมาพบจำเลยที่ 1 เพื่อให้ช่วยดำเนินการขอหนังสือคนประจำเรือให้แก่โจทก์ทั้งสามเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นโดยไม่ต้องขอวีซ่าจำเลยที่ 1 ได้รับเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)สาขาเทเวศร์ ลงวันที่ 5 เมษายน 2539 จำนวนเงิน 30,000 บาทและแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่3 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 100,000 บาท จากโจทก์ทั้งสามและรับเงินไปแล้ว ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ การที่โจทก์ทั้งสามออกเช็คและแคชเชียร์เช็คเบิกจ่ายในนามของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเพราะเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 กับพวกหลอกลวงโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าสามารถทำหนังสือคนประจำเรือพาโจทก์ทั้งสามเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่าจริงดังฟ้องฎีกาจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์ทั้งสามมีส่วนร่วมในการกระทำผิดต้องการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นโดยวิธีผิดกฎหมาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น เป็นข้อที่จำเลยที่ 1 เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แต่เห็นว่าเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยจำเลยที่ 1 จึงยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจะต้องวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายเสียก่อนว่าโจทก์ทั้งสามมีส่วนร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ข้อเท็จจริงดังได้วินิจฉัยมาแล้วฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกหลอกลวงโจทก์ทั้งสามด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งว่าสามารถทำหนังสือเดินทางคนประจำเรือพาโจทก์ทั้งสามเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า ทำให้โจทก์ทั้งสามหลงเชื่อว่าเป็นความจริง โจทก์ทั้งสามจึงหาได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดไม่จึงไม่ต้องวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 1 ต่อไปว่า โจทก์ทั้งสามเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน