คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 109/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 23 วรรคสองนั้น
การโอนคดีไปชำระยังศาลอื่น กฎหมายให้ศาลใช้ดุลพินิจสั่งตามสมควรแก่พฤติการณ์แห่งคดี และเหตุผลเป็นเรื่องๆ ไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องนายวิเชียรหรือกวงจำเลยต่อศาลแขวงพระนครเหนือขอให้ลงโทษฐานบุกรุกทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358, 362 ศาลไต่สวนคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องเพิ่มนายแดงเป็นจำเลยที่ 2 และเพิ่มความผิดให้ลงโทษตามมาตรา 365, 83 ศาลแขวงพระนครเหนือเห็นว่าข้อหาตามมาตรา 365 เกินอำนาจยกคำร้อง

โจทก์นำคดีข้อหาเดียวกันนี้ไปฟ้องต่อศาลอาญา โดยจำเลยนี้เป็นจำเลยที่ 1 นายแดงเป็นจำเลยที่ 2 ขอให้ลงโทษตามมาตรา 358, 362, 365,83 ศาลอาญาไต่สวนคดีมีมูล สั่งประทับฟ้อง

โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือขอโอนคดีนี้ไปรวมพิจารณากับคดีของศาลอาญา จำเลยคัดค้าน

ศาลแขวงพระนครเหนือสั่งให้โอนคดีไปรวมพิจารณากับคดีที่ศาลอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 23 จำหน่ายคดี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ศาลแขวงพระนครเหนือสั่งโอนคดี ศาลอาญาได้รับไว้ดำเนินการพิจารณาแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 23 วรรค 2 ว่า “ถ้าโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลซึ่งความผิดเกิดขึ้นในเขต แต่ต่อมาความปรากฏแก่โจทก์ว่าการพิจารณาคดีจะสะดวกยิ่งขึ้นถ้าให้อีกศาลหนึ่งซึ่งมีอำนาจชำระคดีได้พิจารณาคดีนั้น โจทก์จะยื่นคำร้องต่อศาลซึ่งคดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา ขอโอนคดีไปอีกศาลหนึ่งก็ได้ แม้ว่าจำเลยจะคัดค้านก็ตาม เมื่อศาลเห็นสมควรจะโอนคดีไปหรือยกคำร้องเสียก็ได้” เห็นได้ว่าการโอนคดีไปชำระยังศาลอื่นนั้นกฎหมายให้ศาลใช้ดุลพินิจสั่งตามสมควรแก่พฤติการณ์แห่งคดี และเหตุผลเป็นเรื่อง ๆ ไป ที่ศาลอุทธรณ์ว่า หากให้สองศาลต่างพิจารณาพิพากษาไป พยานจะต้องเบิกความสองครั้งสองหนจะเป็นเหตุให้การชี้ขาดตัดสินผิดแผกต่างกัน ไม่สมควรให้เกิดมีขึ้น ถ้าให้พิจารณาพิพากษารวมกันจะเป็นที่เรียบร้อยสะดวกยิ่งขึ้นนั้นดีแล้ว

ส่วนการที่ศาลอาญาสั่งรับคดีไว้จะเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ ยังไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้

พิพากษายืน

Share