คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1083/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หัวหน้าเขตซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่จำเลยก่อสร้างปกคลุมทางเดินแล้วต่อมาได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยระงับการก่อสร้างปรากฏว่าจำเลยมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแม้ต่อมาหัวหน้าเขตจะมีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคารดังกล่าวอีกและจำเลยได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ก็เป็นการอุทธรณ์เมื่อเกินสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งครั้งหลังโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ต่อเติมขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตได้โดยไม่จำต้องรอฟังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อนกรณีเช่นนี้แม้จะได้ความว่าอาคารพิพาทมีความมั่นคงแข็งแรงแต่เมื่อจำเลยก่อสร้างต่อเติมจนเป็นเหตุให้ขาดประโยชน์แห่งการป้องกันอัคคีภัยก็ถือได้ว่ามีเหตุสมควรที่จะต้องรื้อถอน แม้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ต่อเติมน้อยกว่าสามสิบวันอันเป็นการไม่ชอบด้วยพ.ร.บ.ควบคุมอาคารพ.ศ.2522มาตรา42วรรคแรกก็ตามแต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายหลังที่จำเลยได้รับคำสั่งนานถึง3ปีเศษโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนส่วนของอาคารที่ก่อสร้างดัดแปลงเพิ่ทเติมโดยมิได้รับอนุญาต ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนก็ให้โจทก์รื้อถอนได้เองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่าสภาพตึกแถวที่ปรากฎกับการใช้ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนไม่มีลักษณะเป็นอันตรายหรือเป็นภัยต่อผู้อื่น ไม่มีลักษณะเป็นการขัดกฎหมายหรือการผังเมือง เพราะอาคารมีสภาพมั่นคงแข็งแรงไม่ผิดสุขลักษณะอนามัย และไม่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะคดีนี้จำเลยได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาโจทก์จึงต้องรอคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เสียก่อน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนส่วนของอาคารตึกแถวที่ก่อสร้างดัดแปลงเพิ่มเติม
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประเด็นข้อแรกที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเป็นการไม่ชอบ และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น นายบุญช่วยพยานโจทก์เบิกความว่า หัวหน้าเขตยานนาวามีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่จำเลยก่อสร้างปกคลุมทางเดินเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2522 ตามเอกสารหมาย จ.2 และต่อมาเมื่อวันท่ี31 สิงหาคม 2522 ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยระงับการก่อสร้างตามเอกสารหมาย จ.3 ปรากฎว่าจำเลยมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของหัวหน้าเขตยานนาวาดังกล่าวภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใดแม้ต่อมาหัวหน้าเขตยานนาวาจะมีคำสั่งลงวันที่ 20 มีนาคม 2524ให้จำเลยระงับการก่อสร้างอาคารที่ปิดทางเดินด้านหลังและที่ต่อเชื่อมอาคารด้านข้างโดยมิได้รับอนุญาตตามเอกสารหมาย ล.1 และเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2524 หัวหน้าเขตยานนาวาได้มีคำสั่งให้จำเลจำเลยรื้อถอนอาคารที่จำเลยก่อสร้างปกคลุมทางเดินอีกครั้งหนึ่งตามเอกสารหมาย จ.4 ปรากฎว่าจำเลยได้รับคำสั่งเมื่อวันที่ 28เมษายน 2524 ตามใบรับเอกสารหมาย จ.5 แต่จำเลยก็มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของหัวหน้าเขตยานนาวาครั้งหลังนี้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่จำเลยต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ กทม. 9005/4919 (คำสั่งลงวันที่ 23 เมษายน 2524 ให้จำเลยรื้อถอนอาคาร) ของหัวหน้าเขตยานนาวา ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 ตามเอกสารหมาย ล.2 เป็นการอุทธรณ์เกินสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ต้องห้ามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 52 โจทก์จึงไม่จำต้องรอฟังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน
ฯลฯ
ประเด็นข้อต่อไปที่จำเลยฎีกาทำนองว่า อาคารพิพาทมีความมั่นคงแข็งแรงไม่สมควรจะให้จำเลยรื้อถอนนั้น เห็นว่าวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 นอกจากจะเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงแข็งแรงของอาคารแล้ว ยังเพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัยการป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมการผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรตลอดจนการอื่นที่จำเป็นอีกด้วย ซึ่งนายสุรินทร์ อุบลวิรัตนาพยานโจทก์เบิกความว่าเมื่อครั้งพยานดำรงตำแหน่งช่างโยธา 4เขตยานนาวา ได้ไปตรวจดูอาคารพิพาท ขณะนั้นจำเลยก่อสร้างต่อเติมเสร็จเรียบร้อยแล้ว การก่อสร้างต่อเติมดังกล่าวทำให้อาคารของจำเลยมีทางออกด้านหน้าเพียงด้านเดียว และนายมานิต มาลากนก พยานจำเลยเบิกความว่า บ้านพยานอยู่ติดกับบ้านจำเลย พยานต่อเติมอาคารด้านหลังที่เป็นทางเดินให้เป็นที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกับบ้านจำเลยจึงไม่มีประตูและทางออกด้านหลัง ถ้าเกิดเพลิงไหม้ก็ออกได้เฉพาะด้านหน้าเพียงด้านเดียว แสดงว่าการที่จำเลยก่อสร้างต่อเติมอาคารพิพาทเป็นเหตุให้ขาดประโยชน์แห่งการป้องกันอัคคีภัย และการผังเมืองไม่ต้องด้วยวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แม้อาคารพิพาทจะมีความมั่นคงแข็งแรงก็ถือได้ว่ามีเหตุสมควรที่จะต้องรื้อถอน
ประเด็นข้อสุดท้ายที่จำเลยฎีกาว่า คำสั่งตามเอกสารหมาย จ.2ที่กำหนดให้รื้อถอนอาคารภายใน 15 วัน และคำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามเอกสารหมาย จ.4 ออกภายหลังคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างเกินกว่า30 วัน จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าแม้คำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามเอกสารหมาย จ.2 จะกำหนดให้จำเลยรื้อถอนอาคารน้อยกว่า กว่าสามสิบวัน อันเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคแรก แต่โจทก์ก็ฟ้องคดีนี้ภายหลังที่จำเลยได้รับคำสั่งดังกล่าวนานถึง 3 ปีเศษ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนข้อที่ว่าคำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามเอกสารหมาย จ.4ออกภายหลังคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างเกินกว่า 30 วัน เห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่จำเลยฎีกาก็ไม่ทำให้อำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการที่จะสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ดัดแปลงหรือต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องหมดไปทั้งตามมาตรา 11 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคารพุทธศักราช 2479 และตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 หากโจทก์จะเสียหายเพราะการที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 วรรคสองก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวกันต่างหาก ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืนฯ”.

Share