คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลรัษฎากรที่บัญญัติว่าเมื่อผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จะต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลนั้นการฟ้องศาลดังกล่าวผู้อุทธรณ์ย่อมฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะเป็นประธานกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ไม่จำต้องฟ้องกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ร่วมกันทั้งหมด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้มีหนังสือแจ้งคำชี้ขาดอุทธรณ์ว่า โจทก์มีรายรับขายของประเภทการขายผลิตภัณฑ์โดยไม่ได้นำมารวมยื่นเสียภาษีการค้า ให้โจทก์นำเงินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเป็นเงิน 7,408.47 บาทไปชำระ โจทก์ไม่มีรายรับดังกล่าว จึงขอให้เพิกถอนคำสั่งชี้ขาดและพิพากษาว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าประเภทขายของ

จำเลยให้การตัดฟ้องว่า การฟ้องศาลต้องฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่โจทก์ฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสจึงเป็นการฟ้องผิดตัว และให้การต่อสู้ในข้ออื่น ๆ ด้วย

ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่ฟ้องนายพันธุ์ สายตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสเป็นส่วนตัวซึ่งไม่มีอำนาจวินิจฉัยคำอุทธรณ์ ไม่มีทางบังคับจำเลย จึงพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายก ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้และพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่ออ่านฟ้องและเอกสารแนบท้ายฟ้องของโจทก์รวมกัน ก็เข้าใจได้ว่า โจทก์ได้ฟ้องนายพันธุ์ผู้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะเป็นประธานกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ หาใช่โจทก์ประสงค์จะฟ้องนายพันธุ์เป็นส่วนตัวหรือฟ้องผิดตัวดังที่จำเลยกล่าวอ้างมาในฎีกานั้นไม่

ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จำต้องฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทั้งสามคน จะฟ้องนายพันธุ์ผู้ว่าราชการจังหวัดคนเดียวไม่ได้นั้นศาลฎีกาเห็นว่า ไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องฟ้องกรรมการทั้งสามคนการที่โจทก์ฟ้องนายพันธุ์ ก็ฟ้องในฐานะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดและในฐานะเป็นประธานกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อยู่แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องได้

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลยเสีย

Share