คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1077/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.กับส. ไปหลอกลวงผู้เสียหายว่าเป็นเจ้าพนักงาน ขอค้นบ้าน และค้นได้แป้งเชื้อสุราแล้วคุมตัวผู้เสียหายไปมอบให้ ด. ที่บ้านของป. ด.หลอกลวงผู้เสียหายว่าเป็นเจ้าพนักงานสรรพสามิต บอกให้ผู้เสียหายเสียค่าปรับ ถ้าไม่เอาเงินมาเสียจะจับส่งอำเภอ แล้วผู้เสียหายถูกคุมไปหายืมเงิน พบ ช.ซึ่งเป็นกำนันได้เล่าเรื่องให้ฟังช.พูดส่งเสริมให้ผู้เสียหายเสียเงินให้ที่นั่น ผู้เสียหายเอาเงินให้ ช. รับเงินไว้แล้วบอกให้ผู้เสียหายกลับได้ วันนั้นเอง ช. ไปร่วมรับประทานอาหารและแบ่งเงินให้ ป.ส.และด. การกระทำของป.ส.และด. เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145,310 และ 337 ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ด้วย และการกระทำของช. ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 341 เช่นเดียวกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 4 ฐานฉ้อโกง ด. กับช. จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่ใช่ความผิดฐานฉ้อโกงด้วย ก็เป็นเหตุในลักษณะคดีศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะพิพากษายกฟ้องความผิดฐานนี้ตลอดถึงจำเลยที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วย
โจทก์ฟ้องจำเลยฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน ทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพและฉ้อโกงกับขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่จำเลยรับไปจากผู้เสียหายด้วย เมื่อวินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว ศาลย่อมพิพากษาให้ยกคำขอให้คืนหรือใช้เงินนี้เสียด้วย (แม้โจทก์จะฎีกาฝ่ายเดียวขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกง จำเลยไม่ได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในข้อนี้)

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 และ 2 บอกผู้เสียหายว่าเป็นเจ้าพนักงานขอค้นบ้านและค้นได้แป้งเชื้อสุรา แล้วจำเลยที่ 1 และ 2คุมตัวผู้เสียหายไปที่บ้านจำเลยที่ 1 และมอบตัวให้แก่จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ก็อ้างตนว่าเป็นเจ้าพนักงานสรรพสามิต ให้ผู้เสียหายพิมพ์ลายนิ้วมือในบันทึกรับว่ามีแป้งเชื้อสุราและแจ้งให้ผู้เสียหายเอาเงินมาชำระค่าปรับ 1,000 บาท เมื่อผู้เสียหายว่าไม่มีจำเลยที่ 3 ก็บอกให้ไปหายืมมา ถ้าไม่เอาเงินมาเสียจะจับส่งอำเภอ ทั้งนี้โดยจำเลยไม่มีอำนาจที่จะทำได้แล้วจำเลยที่ 1 และ 2 ก็คุมตัวผู้เสียหายไปหายืมเงินที่บ้านนายป้อ พบจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกำนันที่นั่น ผู้เสียหายเล่าเรื่องให้ฟัง จำเลยที่ 4 พูดว่าเสียค่าปรับที่นั่นหรือที่อำเภอก็เท่ากัน เสียที่นั่นดีกว่า ผู้เสียหายก็ยืมเงินมาสมทบกับเงินที่มีอยู่ วางให้จำเลยที่ 4 รับเอาไป จำเลยที่ 4 จึงให้กลับได้แล้วจำเลยที่ 4ไปร่วมรับประทานอาหารกับจำเลยอื่นที่บ้านจำเลยที่ 1 และเอาเงินแบ่งให้จำเลยอื่นด้วย

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1, 2, 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145, 310, 341 ประกอบด้วย มาตรา 83 ส่วนจำเลยที่ 4 มีความผิดตามมาตรา 341 ฐานเดียว ลงโทษจำคุกกับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินให้ผู้เสียหาย

จำเลยที่ 3 และ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่ผู้เสียหายต้องให้เงินก็เพราะกลัว อันเป็นความผิดฐานกรรโชก ตามมาตรา 337 ซึ่งโจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษหรือประสงค์ให้ลงโทษ ไม่ใช่ฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 และเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลมีอำนาจพิพากษาถึงจำเลยที่ 1, 2 ด้วย พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องในข้อหาฐานฉ้อโกงสำหรับจำเลยทุกคน

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ฐานสมคบกันฉ้อโกงด้วย

ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1, 2, 3 เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายให้เสียเสรีภาพ โดยจะจับตัวไปส่งอำเภอ ผู้เสียหายถูกข่มขืนใจจำต้องให้เงิน อันเป็นความผิดตามมาตรา 337 หาใช่ว่ายอมส่งทรัพย์ให้เพียงแต่ถ้อยคำที่จำเลยอ้างตนว่าเป็นเจ้าพนักงานเท่านั้นไม่ ส่วนจำเลยที่ 4 ได้พูดสนับสนุนในการกระทำผิดฐานกรรโชกของจำเลยที่ 1, 2, 3 ไม่ใช่เรื่องหลอกลวงฉ้อโกง เมื่อวินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยใช้หรือคืนทรัพย์แก่ผู้เสียหายได้ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายด้วย นั้น ให้ยกเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share