แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 45 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2519 แต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีชั่วคราว มีจำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรี กับพวกอีก 4 คน เป็นเทศมนตรี เท่าจำนวนของคณะเทศมนตรีที่ต้องออกจากตำแหน่งทั้งคณะตามคำวินิจฉัยของสภาเทศบาล ตามคำสั่งจังหวัดอุดรธานีที่ 557/2542 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2542 นั้น เป็นกรณีแต่งตั้งคณะเทศมนตรีชั่วคราวโดยชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว และต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2542 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีประกาศแต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีขึ้นใหม่ มีจำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรี และเทศมนตรีชั่วคราวชุดเดิมเป็นเทศมนตรี ตามประกาศจังหวัดอุดรธานี ลงวันที่ 8 มีนาคม 2542 แต่เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1151/2542 ให้เพิกถอนประกาศแต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีดังกล่าว ซึ่งระหว่างนั้น พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2542 แล้ว โดยมีมาตรา 3 และมาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 (ฉบับเดิม) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2519 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่คณะเทศมนตรีต้องออกจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งผู้ที่เห็นสมควรเท่าจำนวนของคณะเทศมนตรีที่ต้องออกจากตำแหน่งให้เป็นคณะเทศมนตรีชั่วคราวเพื่อดำเนินกิจการของเทศบาลไปจนกว่าจะได้แต่งตั้งคณะเทศมนตรีขึ้นใหม่ และแก้ไขใหม่ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2542 ว่า “ในระหว่างที่ไม่มีคณะเทศมนตรี ให้ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเป็นการชั่วคราวเท่าที่จำเป็นได้จนกว่าคณะเทศมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่” ก็ตาม แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้มิได้กล่าวถึงสถานะของคณะเทศมนตรีชั่วคราวซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับเดิมว่าจะให้ดำรงอยู่ในสถานะใด เช่นนี้ คณะเทศมนตรีนครอุดรธานีชั่วคราวซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายฉบับเดิม จึงยังคงมีสถานะเป็นคณะเทศมนตรีชั่วคราว รวมทั้งมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการของเทศบาลนครอุดรธานีไปจนกว่าจะมีการส่งมอบงานในหน้าที่ให้แก่ปลัดเทศบาลนครอุดรธานีปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครอุดรธานีเป็นการชั่วคราวต่อไปจนกว่าคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบงานในหน้าที่ให้แก่ปลัดเทศบาลนครอุดรธานี และได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นายกเทศมนตรีนครอุดรธานีในการบริหารงานของเทศบาลนครอุดรธานีต่อไป ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์อ้างในฟ้อง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับเรื่องร้องเรียน แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ลงมติว่าจำเลยที่ 1 มีมูลความผิดอาญา กับส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีนี้ เป็นการกระทำที่มีอำนาจกระทำได้ ถือว่ามีการสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการย่อมอ้างรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวเป็นสำนวนการสอบสวนเพื่อยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้โจทก์นำ ช. เข้าเบิกความในชั้นพิจารณาโดยทำบันทึกคำเบิกความพยานแทนการซักถามพยานต่อหน้าศาล แต่ก็ไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยคัดค้าน ทั้งยังถามค้านพยานต่อมาอีกหลายนัดจนเสร็จการสืบพยานดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยได้คัดค้านเช่นกัน ดังนี้ จำเลยที่ 5 จะยกขึ้นเถียงในชั้นฎีกาว่า การสืบพยานดังกล่าวขัดต่อวิธีพิจารณาความอาญาหาได้ไม่ และแม้คำเบิกความของ ช. ดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อคำนึงถึงตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ คำเบิกความของ ช. จึงรับฟังได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1)
เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดินร่วมกันลงนามในรายงานการประชุมและบันทึกผลการจัดซื้อที่ดินว่ามีการประชุมและต่อรองราคาที่ดินซึ่งความจริงไม่ได้มีการประชุมและต่อรองราคาที่ดินแต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานในตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี มีหน้าที่รับเอกสารลงนามรับรองรายงานการประชุมและบันทึกผลการจัดซื้อที่ดินที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เสนอให้พิจารณาอนุมัติจัดซื้อซึ่งตนมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการจัดทำเอกสารดังกล่าวด้วย การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ลงนามรับรองว่าได้กระทำการดังกล่าวเป็นการร่วมกันรับรองเอกสารเท็จและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดินให้แก่เทศบาลนครอุดรธานี ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานในฐานะนายกเทศมนตรีนครอุดรธานีและเป็นผู้แต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นคณะกรรมการจัดซื้อที่ดิน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดิน แต่มีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ มิให้เป็นการเสียหายแก่รัฐและเทศบาลนครอุดรธานี การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกันจัดซื้อที่ดินจาก ท. ในราคาไร่ละ 286,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ที่ดินมีราคาเพียงไร่ละ 50,000 บาท เท่านั้น ทำให้เทศบาลนครอุดรธานีเสียหายต้องซื้อที่ดินในราคาสูงกว่าราคาที่แท้จริงมาก และจำเลยที่ 1 ไม่ตรวจสอบการจัดซื้อที่ดินให้ถูกต้องตามระเบียบ ทั้งยังออกเช็คสั่งจ่ายเงินผิดระเบียบเพราะไม่จ่ายให้แก่เจ้าหนี้หรือคู่สัญญาโดยตรงหรือในนามของผู้มอบฉันทะ แต่กลับไปจ่ายให้แก่จำเลยที่ 7 ผู้รับมอบอำนาจ ดังนี้ พฤติการณ์บ่งชี้ชัดแจ้งว่าเป็นการร่วมรู้เห็นกันมาแต่ต้นในการจัดซื้อที่ดิน เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐและเทศบาลนครอุดรธานีแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 ประกอบมาตรา 83
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 151, 157 และ 162
จำเลยทั้งเจ็ดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (ที่ถูก มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบททั่วไปตามมาตรา 157 อีก) และมาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 151 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 5 ปี คำให้การของจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ในชั้นไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 มีกำหนดคนละ 3 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 7 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และ 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 7 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 151 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 7 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยทั้งเจ็ดฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา นายพรชัย บุตรจำเลยที่ 7 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 7 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2558 โจทก์ไม่ค้าน ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 7 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับจำเลยที่ 7 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 7 เสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า หลังจากนายสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี ได้สิ้นสุดสมาชิกภาพตามคำวินิจฉัยของสภาเทศบาลนครอุดรธานี ให้ออกตามมาตรา 19 (6) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 ในคราวประชุมสภาเทศบาลนครอุดรธานี สมัยวิสามัญ สมัยที่ 1 ครั้งที่ 1/2542 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2542 เป็นเหตุให้เทศมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 45 (3) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 45 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2519 แต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีชั่วคราว มีจำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรี นายอิทธิพล นายสืบวงศ์ นายสมพล และนายสุรัตน์ เป็นเทศมนตรี ตามคำสั่งจังหวัดอุดรธานี ที่ 557/2542 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2542 ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2542 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีประกาศแต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีชุดใหม่ มีจำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรี และเทศมนตรีชั่วคราวชุดเดิมเป็นเทศมนตรี ตามประกาศจังหวัดอุดรธานี ลงวันที่ 8 มีนาคม 2542 หลังจากนั้นวันที่ 18 มีนาคม 2542 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1151/2542 ให้เพิกถอนประกาศแต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ยังคงใช้ตำแหน่งหน้าที่นายกเทศมนตรีนครอุดรธานีชั่วคราวบริหารงานของเทศบาลนครอุดรธานีต่อไป โดยวันที่ 24 พฤษภาคม 2542 จำเลยที่ 1 จัดประชุมสภาเทศบาลนครอุดรธานี สมัยวิสามัญ สมัยที่ 3 ประจำปี 2542 ครั้งที่ 2 เสนอญัตติขอยืมเงินสะสมของเทศบาลเป็นค่าจัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบบำบัดน้ำเสียโรงฆ่าสัตว์จำนวน 20,000,000 บาท กับขอความเห็นชอบในการทำกิจการนอกเขตเทศบาล เพื่อจัดซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงโรงฆ่าสัตว์ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านดอนพู่ ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี และสภาเทศบาลนครอุดรธานีมีมติเห็นชอบ วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 จำเลยที่ 1 ลงนามอนุมัติในบันทึกข้อความการจัดซื้อที่ดิน วันที่ 26 พฤษภาคม 2542 จำเลยที่ 1 ลงนามประกาศจัดซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบบำบัดน้ำเสียโรงฆ่าสัตว์โดยวิธีพิเศษในวันที่ 7 มิถุนายน 2542 และวันที่ 28 พฤษภาคม 2542 จำเลยที่ 1 แต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษ ตามคำสั่งเทศบาลนครอุดรธานี ที่ 365/2542 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2542 ปรากฏว่าในวันนัดยื่นซองเสนอราคาไม่มีผู้ใดมาเสนอขายที่ดิน จำเลยที่ 1 จึงลงนามอนุมัติให้ขยายระยะเวลายื่นซองเสนอราคาออกไปเป็นวันที่ 10 มิถุนายน 2542 ปรากฏว่าในวันนัดมีผู้เสนอขายที่ดินเพียงรายเดียวคือนางทองวัน ผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ดินรวม 6 แปลง ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 87911 ถึง 87915 ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี และตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2217 ตำบลหนองบุ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่รวม 68 ไร่ 3 งาน 38 ตารางวา โดยมีจำเลยที่ 7 เป็นผู้รับมอบอำนาจเสนอขายที่ดินดังกล่าวแก่เทศบาลนครอุดรธานี ในวันเดียวกันจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการจัดซื้อที่ดินเป็นผู้จดบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการจัดซื้อที่ดิน โดยวิธีพิเศษ ครั้งที่ 2/2542 เมื่อเวลา 11.10 นาฬิกา และครั้งที่ 3/2542 เมื่อเวลา 13.30 นาฬิกา ว่ามีการต่อรองราคาที่ดินกับผู้ขายจากราคาไร่ละ 350,000 บาท ลดลงเหลือไร่ละ 286,000 บาท มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ลงลายมือชื่อในรายงานการประชุมดังกล่าวและในบันทึกผลการจัดซื้อที่ดินเสนอจำเลยที่ 1 เพื่อพิจารณาอนุมัติจัดซื้อที่ดิน โดยในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 7 ตกลงจะซื้อที่ดินทั้งหกแปลงดังกล่าวในราคาไร่ละ 286,000 บาท รวมเป็นเงิน 19,689,670 บาท ต่อมาวันที่ 11 มิถุนายน 2542 คณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ตรวจรับที่ดินดังกล่าว และวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้นางสาวอัมพร หัวหน้างานนิติการเทศบาลนครอุดรธานี ไปทำสัญญาและจดทะเบียนซื้อขายที่ดินดังกล่าวแทนโดยมีนางทองวันลงลายมือชื่อเป็นผู้ขายในหนังสือสัญญาขายที่ดิน หลังจากนั้นวันที่ 9 มิถุนายน 2542 เทศบาลนครอุดรธานีได้เปิดบัญชีที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเจริญศรีคอมเพล็กซ์ ซึ่งมีที่ทำการอยู่ในศูนย์การค้าเจริญศรีคอมเพล็กซ์ วันที่ 14 มิถุนายน 2542 จำเลยที่ 1 และนายวรพงษ์ ปลัดเทศบาลนครอุดรธานีร่วมกันลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายในเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเจริญศรีคอมเพล็กซ์ ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2542 จำนวนเงิน 19,689,670 บาท ให้แก่จำเลยที่ 7 หรือผู้ถือเป็นค่าซื้อที่ดินดังกล่าวและวันเดียวกันจำเลยที่ 7 นำเช็คนั้นไปเบิกเงินจากธนาคารแล้ว ต่อมาวันที่ 22 กรกฎาคม 2542 นายจักรทิพย์ สมาชิกสภาเทศบาลนครอุดรธานี ทำหนังสือร้องเรียนเรื่องการซื้อที่ดินรายนี้ไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 6 จังหวัดอุดรธานี
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 45 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2519 แต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีชั่วคราว มีจำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรี กับพวกอีก 4 คน เป็นเทศมนตรี เท่าจำนวนของคณะเทศมนตรีที่ต้องออกจากตำแหน่งทั้งคณะตามคำวินิจฉัยของสภาเทศบาล ตามคำสั่งจังหวัดอุดรธานีที่ 557/2542 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2542 นั้น เป็นกรณีแต่งตั้งคณะเทศมนตรีชั่วคราวโดยชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว และต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2542 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีประกาศแต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีขึ้นใหม่ มีจำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรี และเทศมนตรีชั่วคราวชุดเดิมเป็นเทศมนตรี ตามประกาศจังหวัดอุดรธานี ลงวันที่ 8 มีนาคม 2542 แต่เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1151/2542 ให้เพิกถอนประกาศแต่งตั้งคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีดังกล่าว ซึ่งระหว่างนั้นพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2542 แล้ว โดยมีมาตรา 3 และมาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 (ฉบับเดิม) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2519 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่คณะเทศมนตรีต้องออกจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งผู้ที่เห็นสมควรเท่าจำนวนของคณะเทศมนตรีที่ต้องออกจากตำแหน่งให้เป็นคณะเทศมนตรีชั่วคราว เพื่อดำเนินกิจการของเทศบาลไปจนกว่าจะได้แต่งตั้งคณะเทศมนตรีขึ้นใหม่ และแก้ไขใหม่ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2542 ว่า “ในระหว่างที่ไม่มีคณะเทศมนตรี ให้ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเป็นการชั่วคราวเท่าที่จำเป็นได้จนกว่าคณะเทศมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่” ก็ตาม แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้มิได้กล่าวถึงสถานะของคณะเทศมนตรีชั่วคราวซึ่งแต่งตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับเดิมว่าจะให้ดำรงอยู่ในสถานะใด เช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า คณะเทศมนตรีนครอุดรธานีชั่วคราวซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายฉบับเดิม จึงยังคงมีสถานะเป็นคณะเทศมนตรีชั่วคราวรวมทั้งมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการของเทศบาลนครอุดรธานีไปจนกว่าจะมีการส่งมอบงานในหน้าที่ให้แก่ปลัดเทศบาลนครอุดรธานีปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีนครอุดรธานีเป็นการชั่วคราวต่อไปจนกว่าคณะเทศมนตรีนครอุดรธานีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบงานในหน้าที่ให้แก่ปลัดเทศบาลนครอุดรธานี และได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นายกเทศมนตรีนครอุดรธานีในการบริหารงานของเทศบาลนครอุดรธานีต่อไป ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์อ้างในฟ้อง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับเรื่องร้องเรียน แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ลงมติว่าจำเลยที่ 1 มีมูลความผิดอาญา กับส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีนี้ เป็นการกระทำที่มีอำนาจกระทำได้ ถือว่ามีการสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการย่อมอ้างรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวเป็นสำนวนการสอบสวนเพื่อยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต จัดการทรัพย์อันเป็นการเสียหายและทำเอกสารเท็จหรือไม่ เห็นว่า นายชัยยาเป็นเจ้าพนักงานเบิกความไปตามอำนาจหน้าที่ เชื่อว่าเบิกความไปตามความจริงตามที่ได้รับการบอกเล่าจากนางทองวันและจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 แม้โจทก์นำนายชัยยาเข้าเบิกความในชั้นพิจารณาโดยทำบันทึกคำเบิกความพยานแทนการซักถามพยานต่อหน้าศาล แต่ก็ไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยคัดค้าน ทั้งยังถามค้านพยานต่อมาอีกหลายนัดจนเสร็จการสืบพยานดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยได้คัดค้านเช่นกัน ดังนี้ จำเลยที่ 5 จะยกขึ้นเถียงในชั้นฎีกาว่า การสืบพยานดังกล่าวขัดต่อวิธีพิจารณาความอาญาหาได้ไม่ และแม้คำเบิกความของนายชัยยาดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อคำนึงถึงตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ คำเบิกความของนายชัยยาจึงรับฟังได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ฎีกาอ้างว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่อาจรับฟังได้นั้นฟังไม่ขึ้น เมื่อรับฟังคำเบิกความของนายชัยยาประกอบคำให้การของนางทองวัน กับรายงานการประชุมคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษครั้งที่ 2/2542 และครั้งที่ 3/2542 ดังกล่าวแล้ว
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นางทองวันขายที่ดินในราคาไร่ละ 50,000 บาท โดยได้รับเงินค่าที่ดินเพียง 1,900,000 บาท และรายงานการประชุมคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินโดยวิธีพิเศษครั้งที่ 2/2542 และครั้งที่ 3/2542 ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดทำเป็นความเท็จ และทำให้บันทึกผลการจัดซื้อที่ดิน ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2542 ที่ระบุว่า คณะกรรมการจัดซื้อที่ดินได้ทำการต่อรองราคาซื้อขายที่ดินในช่วงบ่ายของวันที่ 10 มิถุนายน 2542 และที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นควรจัดซื้อที่ดินในราคาไร่ละ 286,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 19,689,670 บาท ซึ่งคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงจำเลยที่ 1 พิจารณาและอนุมัติจัดซื้อที่ดินตามเสนอนั้นเป็นความเท็จด้วย จากพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังที่ได้วินิจฉัยมาดังกล่าว ตั้งแต่จำเลยที่ 1 ออกประกาศเทศบาลนครอุดรธานี โดยกำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติเฉพาะของที่ดินในลักษณะเป็นการล็อกสเปกเพื่อให้สามารถจัดซื้อที่ดินเฉพาะรายของนางทองวัน กับมีการเพิ่มเติมข้อกำหนดให้ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเสนอขายที่ดินได้ รวมทั้งให้เทศบาลนครอุดรธานีจ่ายเงินค่าที่ดินให้แก่ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจได้ฝ่าฝืนระเบียบของกระทรวงมหาดไทยและมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินรายนี้ ทำให้มีเหตุผลให้เชื่อว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนรู้เห็นกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เกี่ยวกับการจัดทำรายงานการประชุมและบันทึกผลการจัดซื้อที่ดินดังกล่าวด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดินร่วมกันลงนามในรายงานการประชุมและบันทึกผลการจัดซื้อที่ดินว่ามีการประชุมและต่อรองราคาที่ดินซึ่งความจริงไม่ได้มีการประชุมและต่อรองราคาที่ดินแต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานในตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี มีหน้าที่รับเอกสารลงนามรับรองรายงานการประชุมและบันทึกผลการจัดซื้อที่ดินที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เสนอให้พิจารณาอนุมัติจัดซื้อซึ่งตนมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการจัดทำเอกสารดังกล่าวด้วย การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ลงนามรับรองว่าได้กระทำการดังกล่าวเป็นการร่วมกันรับรองเอกสารเท็จและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83
จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แวดล้อมดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดินให้แก่เทศบาลนครอุดรธานี ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานในฐานะนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี และเป็นผู้แต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นคณะกรรมการจัดซื้อที่ดิน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นกรรมการจัดซื้อที่ดิน แต่มีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ มิให้เป็นการเสียหายแก่รัฐและเทศบาลนครอุดรธานี การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกันจัดซื้อที่ดินจากนางทองวัน ในราคาไร่ละ 286,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ที่ดินมีราคาเพียงไร่ละ 50,000 บาท เท่านั้น ทำให้เทศบาลนครอุดรธานีเสียหายต้องซื้อที่ดินในราคาสูงกว่าราคาที่แท้จริงมาก และจำเลยที่ 1 ไม่ตรวจสอบการจัดซื้อที่ดินให้ถูกต้องตามระเบียบ ทั้งยังออกเช็คสั่งจ่ายเงินผิดระเบียบเพราะไม่จ่ายให้แก่เจ้าหนี้หรือคู่สัญญาโดยตรงหรือในนามของผู้มอบฉันทะ แต่กลับไปจ่ายให้แก่จำเลยที่ 7 ผู้รับมอบอำนาจ ดังนี้ พฤติการณ์บ่งชี้ชัดแจ้งว่าเป็นการร่วมรู้เห็นกันมาแต่ต้นในการจัดซื้อที่ดิน เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐและเทศบาลนครอุดรธานีแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ประกอบมาตรา 83
พิพากษายืน