แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2546 ส. เป็นเจ้าหนี้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเสียหายแก่ตน ระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าว ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23125 และ 23126 ที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา โดยไม่ปรากฏว่า ส. ผู้เป็นเจ้าหนี้ทราบเหตุดังกล่าว เมื่อตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 บัญญัติให้การฟ้องเรียกร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลนั้น ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น ดังนี้ อายุความ 1 ปี จึงยังไม่เริ่มนับเนื่องจาก ส. เจ้าหนี้ได้ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนวันที่จำเลยทั้งสี่ทำนิติกรรมดังกล่าว ส. จึงมิอาจรู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนได้ แม้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จะได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีอาญาข้อหาโกงเจ้าหนี้โดยบรรยายฟ้องคดีอาญาว่า โจทก์ทราบการกระทำผิดของจำเลยทั้งสี่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 ก็ตาม ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเจ้าหนี้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในวันดังกล่าวกรณีจึงต้องบังคับตามอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ตอนท้าย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557 ยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2547 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยเสน่หา สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ตอนท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 23125 และ 23126 ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างจำเลยทั้งสี่ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าใช้จ่าย ค่าภาษีในการจดทะเบียนเพิกถอน หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ ให้โจทก์สำรองออกไปก่อนจากนั้นใช้สิทธิไล่เบี้ยเรียกคืนจากจำเลยทั้งสี่
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 23125 และ 23126 ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างจำเลยทั้งสี่ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2546 นางสมจิตร ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นให้ชำระค่าเสียหายเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผิดข้อตกลงไม่ส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 23125 และ 23126 ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่นางสมจิตรผู้ทรงสิทธิเก็บกินตามข้อตกลง ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 648,000 บาท แก่นางสมจิตรโดยโจทก์ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนที่นางสมจิตรผู้ตาย โจทก์ทราบคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 27 สิงหาคม 2556 ในระหว่างดำเนินคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน วันที่ 8 พฤศจิกายน 2550 โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีอาญาในความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้ โดยบรรยายฟ้องในคดีดังกล่าวว่า โจทก์ทราบการกระทำความผิดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่มีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสมจิตรซึ่งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2546 นางสมจิตรเป็นเจ้าหนี้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าเสียหายแก่ตน ระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าว ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 23125 และ 23126 ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา โดยไม่ปรากฏว่านางสมจิตรผู้เป็นเจ้าหนี้ทราบเหตุดังกล่าว เมื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 บัญญัติให้การฟ้องเรียกร้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลนั้น ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น ดังนี้ อายุความ 1 ปี จึงยังไม่เริ่มนับเนื่องจากนางสมจิตรเจ้าหนี้ได้ถึงแก่ความตายไปเสียก่อนวันที่จำเลยทั้งสี่ทำนิติกรรมดังกล่าว นางสมจิตรจึงมิอาจรู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนได้ แม้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสมจิตรจะได้ฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีอาญาข้อหาโกงเจ้าหนี้โดยบรรยายฟ้องคดีอาญาว่า โจทก์ทราบการกระทำผิดของจำเลยทั้งสี่เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2550 ก็ตาม ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเจ้าหนี้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลในวันดังกล่าว กรณีจึงต้องบังคับตามอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ตอนท้าย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557 ยังไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2547 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยเสน่หา ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ตอนท้าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ