คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1072/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าคณะอำเภอ ฟ้องหาว่าจำเลยกล่าวคำหมิ่นประมาทใส่ความว่าโจทก์เข้าหานางชีที่ห้องวิปัสสนา เป็นเหตุให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง นั้น จำเลยขอพิสูจน์ความจริงได้ เพราะการพิสูจน์ความจริงของจำเลยย่อมเป็นประโยชน์แก่ประชาชน เนื่องจากประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ผู้เป็นศาสนิกชนย่อมหวงแหนที่จะมิให้ผู้ใดมาทำลายหรือทำความมัวหมองให้แก่พุทธศาสนาที่ตนนับถือ ยิ่งเมื่อจำเลยมาพิสูจน์ความจริงให้ประจักษ์ต่อศาลได้ ก็เป็นประโยชน์แก่คนทั่วไปที่จะได้ไม่มัวหลงเคารพเลื่อมใสโจทก์ต่อไป(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 24/2507)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ก. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2502 เวลากลางวันจำเลยสมคบกันกล่าวคำหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าคณะอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โดยจำเลยที่ 1 กล่าวกับพระวินัยธรจันทร์ อ่อนพรหม เจ้าอาวาสวัดดอนไชย ว่า โจทก์เข้าหานางชีประเสริฐ สุขนิตย์ ที่ห้องวิปัสสนา โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้พบเห็น และได้มาตามจำเลยที่ 1 ไปดูเหตุการณ์พร้อมจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นผู้เปิดประตูห้องวิปัสสนา พบโจทก์นั่งอยู่ในห้องนางชีประเสริฐ และจำเลยที่ 2 ได้กล่าวสนันสนุนถ้อยคำของจำเลยที่ 1 ว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เปิดประตูห้องแล้วได้พบโจทก์นั่งคลุมโปงอยู่ในห้องนางชีประเสริฐ จำเลยที่ 2 ดึงผ้าคลุมโปงออกเห็นว่าผู้นั้นคือโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 กล่าวสนับสนุนถ้อยคำจำเลยที่ 1 ที่ 2 ว่า ถ้อยคำที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 กล่าวนั้นเป็นจริงทุกประการ ทั้งกล่าวเสริมว่าโจทก์ไม่น่ากระทำเลย เพราะบวชมานานแล้วเสียผ้าเหลือง

ข. ระหว่างวันที่ 2 ถึง 5 ธันวาคม 2502 และ ค. ระหว่างวันที่ 11 ถึง 13 ธันวาคม 2502 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามกล่าวคำหมิ่นประมาทโจทก์ โดยกล่าวต่อพระภิกษุสำราญ โตสวัสดิ์ และพระมหาฟู ศรีสุชาติว่า จำเลยต้องย้ายวัดเพราะโจทก์ประพฤติไม่ดี เข้าหานางชีประเสริฐคำกล่าวของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความจริง เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ศาลอนุญาต

จำเลยที่ 1-2 ปฏิเสธว่ามิได้กระทำผิด

ศาลชั้นต้นเชื่อว่าข้อความที่จำเลยกล่าวเป็นความจริง มิใช่กลั่นแกล้งโจทก์ข้อความที่จำเลยกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน จำเลยย่อมพิสูจน์ความจริงได้ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 330 พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายซึ่งโจทก์ฎีกาว่าจำเลยไม่มีสิทธิพิสูจน์ความจริงได้

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความในวรรคแรกของมาตรา 330 ที่บัญญัติว่าถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำผิดพิสูจน์ได้ว่า ข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษนั้นย่อม เป็นข้อบัญญัติที่แสดงว่า ในกรณีหมิ่นประมาทนั้น กฎหมายยอมให้พิสูจน์ความจริงได้ ซึ่งเมื่อพิสูจน์ได้ว่าข้อความที่กล่าวเป็นความจริง กฎหมายก็ไม่เอาโทษ ส่วนข้อความในวรรคสอง ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้พิสูจน์ในเมื่อเป็นกรณีดังที่วรรค 2 นี้ระบุไว้ ย่อมแสดงว่าข้อความในวรรคสอง นี้ เป็นบทบัญญัติยกเว้นจากวรรคแรกอันแสดงว่า วรรคแรกเป็นบทบัญญัติซึ่งเป็นหลักใหญ่ ส่วนวรรค 2 เป็นบทบัญญัติอันเป็นข้อยกเว้น การห้ามมิให้พิสูจน์ความจริงตามมาตรา 330 วรรคสองจะต้องประกอบด้วยเหตุ 2 ประการ คือ 1. ข้อที่หาว่าหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว 2. การพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ฉะนั้น ถ้าไม่ต้องด้วยเหตุ 2 ประการนี้แล้ว ผู้ถูกหาว่าหมิ่นประมาทก็ย่อมพิสูจน์ความจริงได้ สำหรับกรณีในคดีเรื่องนี้การพิสูจน์ความจริงของจำเลยจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ผู้เป็นศาสนิกย่อมหวงแหน ที่จะมิให้ผู้ใดมาทำลายหรือทำความมัวหมองให้แก่พุทธศาสนาที่ตนนับถือ โจทก์นี้เป็นพระภิกษุผู้มีอาวุโสประกอบด้วยสมณศักดิ์และมีตำแหน่งสำคัญในทางศาสนา โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะอันเป็นหลักสำคัญของศาสนิกชนที่จะติดต่อปฏิบัติศาสนกิจด้วยความเลื่อมใสศรัทธา แต่โจทก์กลับไปทำทางลามกกับสตรีเพศ อันถือว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของผู้อยู่ในสมณเพศเป็นทางนำมาซึ่งความมัวหมองและเสื่อมเสียแก่พุทธศาสนาอย่างร้ายแรงแม้แต่ตอนที่พวกจำเลยพากันไปเป็นสักขีพยานรู้เห็นในการประพฤติชั่วช้าของโจทก์ ก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการที่จะกำจัดผู้ทำมัวหมองและเสื่อมเสียแก่พุทธศาสนา เมื่อจำเลยมาพิสูจน์ความจริงให้ประจักษ์ต่อศาลได้อีก ก็ย่อมเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น ทั้งเป็นประโยชน์แก่ผู้คนทั่วไปที่จะได้ไม่มัวหลงเคารพเลื่อมใสโจทก์ต่อไปศาลฎีกาได้พร้อมกันประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า การพิสูจน์ความจริงของจำเลยย่อมเป็นประโยชน์แก่ประชาชน จำเลยจึงขอพิสูจน์ความจริงได้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share