คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1071/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างโดยให้มีผลตั้งแต่วันยื่นคำร้องคือวันที่ 20 มกราคม 2530ก่อนโจทก์ยื่นคำคัดค้าน จำเลยยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเป็นกรณีฉุกเฉิน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตโดยให้จำเลยนำเงินค่าจ้างไปวางศาล เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลแรงงานกลางอนุญาตให้เลิกจ้างโจทก์ได้ ก็ให้จำเลยขอรับค่าจ้างคืนไป แต่ถ้าไม่อนุญาตให้เลิกจ้าง ก็ให้โจทก์รับเงินค่าจ้างไปได้ แสดงว่าจำเลยประสงค์เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2530 การที่ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยยอมจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่โจทก์จำนวนหนึ่งโดยให้โจทก์ไปขอรับจากศาลแรงงานกลางตามที่จำเลยได้วางไว้ ส่วนที่เหลือให้จำเลยรับคืนไปและโจทก์ไม่ติดใจในเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าเสียหายและค่าชดเชยเกี่ยวกับการเลิกจ้างศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ตามที่ตกลงกันแต่ข้อตกลงไม่แจ้งชัดว่าจะให้เลิกจ้างเมื่อใด เช่นนี้คำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างดังกล่าวย่อมเป็นไปตามคำขอของจำเลย โดยจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2530

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ยื่นคำร้องขอเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างต่อศาลแรงงานกลาง ในที่สุดตกลงประนีประนอมยอมความกันโดยโจทก์ยอมให้เลิกจ้างได้ ไม่ถือเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมศาลแรงงานกลางอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ แต่จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ย้อนหลังไม่ใช่ตามวันที่ศาลอนุญาต ขอให้บังคับจำเลยกำหนดวันเลิกจ้างเสียใหม่และจ่ายค่าจ้างกับค่าชดเชยแก่โจทก์จำเลยให้การว่า ได้เลิกจ้างโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ตกลงไว้กับจำเลย จึงเป็นการเลิกจ้างที่ชอบแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องตามฟ้อง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ตามคำสั่งศาลที่อนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ไม่ได้ระบุให้เลิกจ้างเมื่อใดจำเลยจึงเลิกจ้างย้อนหลังไปก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตหาได้ไม่พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาสู่ศาลฎีกาเพียงประเด็นเดียวว่า โจทก์ทั้งหกมีสิทธิได้รับค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2530 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2530 จากจำเลยหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 286/2530 หมายเลขแดงที่ 2495/2530 ของศาลแรงงานกลาง โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเห็นได้ชัดว่าโจทก์จำเลยยอมสละข้อหาข้อต่อสู้ทั้งหมด ไม่ติดใจเรียกร้องกันอีกต่อไปซึ่งเป็นการยอมให้เลิกจ้างได้โดยไม่ติดใจเรียกร้องเงินเกี่ยวกับการเลิกจ้างอีกการยอมให้จำเลยเลิกจ้างได้นั้น แม้มิได้ระบุว่าให้เลิกจ้างเมื่อใดแต่ก็เป็นการอนุญาตตามคำขอคือ จำเลยขอให้เลิกจ้างตั้งแต่วันยื่นคำร้องคือวันที่ 20 มกราคม 2530 จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างได้นับแต่วันยื่นคำร้อง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ขออนุญาตเลิกจ้างโจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่2495/2530 ของศาลแรงงานกลางนั้น จำเลยได้มีคำขอเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2530 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยยื่นคำร้องเป็นต้นไป ต่อมาในวันที่ 27 มกราคม 2530 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนโจทก์ยื่นคำคัดค้าน จำเลยได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยขอให้มีคำสั่งห้ามโจทก์เข้าไปในบริเวณโรงงานของจำเลย และระหว่างการพิจารณา จำเลยยังต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ หากศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์นับแต่วันที่ยื่นคำร้อง จำเลยก็ต้องไปเรียกร้องเอาค่าจ้างคืนจากโจทก์ซึ่งเป็นการยากที่จะเรียกคืนได้จำเลยจึงขอวางเงินค่าจ้างดังกล่าวต่อศาล เมื่อคดีถึงที่สุดหากศาลแรงงานกลางอนุญาตให้เลิกจ้างได้จำเลยก็จะขอรับเงินที่วางนั้นคืน เมื่อศาลแรงงานกลางไต่สวนพยานหลักฐานของจำเลยแล้วได้มีคำสั่งอนุญาตตามขอโดยมีรายละเอียดเฉพาะเรื่องค่าจ้างของโจทก์ว่าอนุญาตให้จำเลยนำเงินค่าจ้างของโจทก์มาวางศาลได้ เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างได้ ก็ให้จำเลยมารับคืนไป แต่ถ้าไม่อนุญาตให้เลิกจ้างก็ให้โจทก์มารับไปได้ พฤติการณ์ตามที่ได้ความนี้จึงมีความหมายว่าจำเลยประสงค์เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2530 ซึ่งเป็นวันยื่นคำร้องขอเลิกจ้างและจำเลยได้มีคำสั่งพักงานโจทก์ไว้แล้ว ทั้งคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่อนุญาตให้มีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาก็เข้าใจคำขอของจำเลยดีอยู่แล้ว การที่ต่อมาโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยยินยอมจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่โจทก์แต่ละคนเป็นเงินจำนวนหนึ่งโดยให้โจทก์ไปขอรับจากศาลแรงงานกลางตามที่จำเลยได้วางไว้ตามคำสั่งดังกล่าว ส่วนที่เหลือให้จำเลยรับคืนไปและโจทก์ไม่ติดใจในเรื่องเลิกจ้างว่าไม่เป็นธรรม ไม่ติดใจเรียกค่าเสียหาย ค่าชดเชยเกี่ยวกับการเลิกจ้างนี้แล้วศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ตามที่ตกลงกันโดยไม่มีข้อตกลงให้เป็นที่แจ้งชัดว่าจะให้จำเลยเลิกจ้างกันได้เมื่อใด เช่นนี้ คำสั่งอนุญาตให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงย่อมเป็นไปตามคำขอของจำเลยคือจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ตั้งแต่วันที่20 มกราคม 2530 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยยื่นคำร้องขอเลิกจ้างโจทก์ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ภายในวันที่ศาลมีคำสั่งหรือหลังจากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างได้นั้น ไม่อาจเป็นหลักวินิจฉัยในกรณีที่จำเลยมีคำขอไว้โดยเฉพาะได้คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาโจทก์คงมีสิทธิได้รับค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม2530 ถึงวันที่ 19 มกราคม 2530 รวมคนละ 4 วัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 1จำนวน 404.80 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 363.88 บาท โจทก์ที่ 3จำนวน 440 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 524.80 บาท โจทก์ที่ 5จำนวน 356.13 บาท และโจทก์ที่ 6 จำนวน 339.08 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share