คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 107/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้ทรัพย์สินที่ให้เช่าจะมิใช่ของโจทก์ แต่เมื่อจำเลยยอมทำสัญญาเช่ากับโจทก์แล้วย่อมต้องผูกพันตามสัญญา และเมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยตามสัญญาเช่าได้ ส่วนเจ้าของทรัพย์สินจะให้อำนาจโจทก์นำทรัพย์สินออกให้เช่าหรือให้เช่าช่วงได้หรือไม่มิใช่ข้อสำคัญ เพราะมิใช่เป็นเรื่องพิพาทกันระหว่างเจ้าของทรัพย์สินกับจำเลยผู้เช่า และเจ้าของทรัพย์สินก็มิได้โต้แย้งอำนาจของโจทก์ในการนำทรัพย์สินออกให้จำเลยเช่า ข้อที่จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยทำสัญญาเช่าในฐานะตัวแทนของบริษัทฉ.นั้นมิได้อยู่ในคำให้การ และประเด็นข้อนี้มิใช่ส่วนหนึ่งของข้อต่อสู้ในเรื่องอำนาจฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ชอบที่ศาลอุทธรณ์จะไม่รับวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ปัญหาว่าเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจำเลยได้ส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาเช่าคืนแก่โจทก์แล้วหรือไม่นั้น เป็นเรื่องอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นที่จะทำคำวินิจฉัยชี้ขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 302 วรรคแรก เมื่อศาลชั้นต้นอันเป็นศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อนี้ จำเลยจะฎีกาข้ามขั้นขึ้นมาให้ศาลฎีกาวินิจฉัยหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดิน อาคารและทรัพย์สินอื่นกับโจทก์มีกำหนด 3 ปี หลังจากสัญญาครบกำหนดแล้วจำเลยยังคงเช่าทรัพย์สินต่าง ๆ ต่อไปอีกและค้างชำระค่าเช่ารวมเป็นเงิน520,000 บาท โจทก์ทวงถามและบอกเลิกสัญญาแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 80,000 บาท ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินกับอาคารที่เช่า พร้อมกับส่งมอบที่ดินอาคาร และทรัพย์สินที่เช่าทั้งหมดคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหายรวม 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของค่าเช่าที่ค้าง 520,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าเสียหายเดือนละ 40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากทรัพย์สินที่เช่าและส่งมอบแก่โจทก์จำเลยให้การว่า จำเลยเช่าเครื่องมือ เครื่องอุปกรณ์ของบริษัทพื้นสำเร็จรูป จำกัด และโรงงานซึ่งมิใช่ของโจทก์ จำเลยไม่เคยเช่าที่ดินของโจทก์ ไม่เคยติดค้างค่าเช่าและไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์หรือผู้ให้เช่าเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่า ค่าเสียหายของโจทก์หากมีก็ไม่เกินเดือนละ 3,000 บาท และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและอาคารที่เช่าให้จำเลยส่งมอบที่ดิน อาคาร และทรัพย์สินที่เช่าคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย และชำระค่าเช่ากับค่าเสียหายเป็นเงิน 600,000บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินค่าเช่า 520,000บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 40,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากทรัพย์สินที่เช่า จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาเป็นข้อแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจเอาทรัพย์สินของบริษัทพื้นสำเร็จรูป จำกัด เช่น อาคารเลขที่ 102/36 ซอยปัญจมิตร แขวงลาดพร้าว เขตบางกะปิและทรัพย์สิน 102 รายการ เป็นต้น ออกให้จำเลยเช่า เพราะกรรมการบริษัทไม่ได้มีมติให้นำทรัพย์สินออกให้เช่า สำหรับที่ดินโฉนดที่4988 ของหม่อมราชวงศ์โศภา กาญจนะวิชัย น้องสาวโจทก์ซึ่งโจทก์เช่ามานั้นเจ้าของที่ดินก็ไม่ได้ยินยอมให้โจทก์มีอำนาจให้จำเลยเช่าช่วง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยตามสัญญาเช่าซึ่งโจทก์จำเลยทำไว้ต่อกัน แม้ทรัพย์สินที่ให้เช่าจะมิใช่ทรัพย์สินของโจทก์ แต่เมื่อจำเลยยอมทำสัญญาเช่ากับโจทก์แล้ว ทั้งสองฝ่ายย่อมต้องผูกพันตามสัญญา เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ การที่กรรมการบริษัทพื้นสำเร็จรูป จำกัด จะมีมติให้โจทก์นำทรัพย์สินของบริษัทออกให้เช่าหรือไม่ และหม่อมราชวงศ์โศภา น้องสาวของโจทก์จะได้ให้อำนาจโจทก์นำทรัพย์สินออกให้เช่าช่วงได้หรือไม่นั้น มิใช่ข้อสำคัญเพราะกรณีนี้เป็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาในสัญญาเช่า มิใช่เป็นเรื่องการพิพาทกันระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่ากับจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่า และเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าก็มิได้โต้แย้งอำนาจของโจทก์ในการนำทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้นออกให้จำเลยเช่าแต่ประการใด ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในข้อต่อไปว่า จำเลยทำสัญญาเช่าในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทฉันทนาวิศวะและอุตสาหกรรม จำกัด เมื่อบริษัทดังกล่าวเข้ามารับผิดตามสัญญาเช่าแล้ว จำเลยจึงพ้นจากความรับผิดตามสัญญาเช่าและจำเลยเห็นว่าความข้อนี้รวมอยู่ในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง จึงถือว่าจำเลยได้ยกขึ้นว่ามาในศาลชั้นต้นแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย จำเลยเห็นว่าไม่เป็นการถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นว่าข้อต่อสู้ที่ว่าจำเลยทำสัญญาเช่ารายนี้ในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัทฉันทนาวิศวะและอุตสาหกรรม จำกัด นั้นมิได้อยู่ในคำให้การของจำเลยแต่อย่างใด ทั้งประเด็นข้อนี้ก็มิใช่เป็นส่วนหนึ่งของข้อต่อสู้ในเรื่องอำนาจฟ้องดังที่จำเลยกล่าวอ้าง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวชอบแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
จำเลยฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยได้ส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาเช่าซึ่งได้แก่อาคารเลขที่ 102/36 และแบบแม่พิมพ์ต่าง ๆ คืนแก่โจทก์แล้วตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2528 ดังปรากฏตามสำเนาหนังสือเรื่องส่งมอบคืนโรงงาน ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2528 ท้ายฎีกา จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในผลเสียหายที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้รับมอบทรัพย์สินคืนเป็นต้นไป โจทก์แก้ฎีกาว่า โจทก์ไม่เคยได้รับมอบทรัพย์สินดังกล่าวคืนจากจำเลย และไม่เคยเห็นหนังสือส่งมอบคืนโรงงานท้ายฎีกา เพราะเป็นหนังสือที่จำเลยทำขึ้นฝ่ายเดียว ฎีกาจำเลยข้อนี้เป็นเท็จ ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาตามฎีกาจำเลยและคำแก้ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้เป็นเรื่องอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นที่จะทำคำวินิจฉัยชี้ขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 302 วรรคแรก เมื่อศาลชั้นต้นอันเป็นศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนี้ในชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อนี้แต่ประการใด จำเลยจะฎีกาข้ามขั้นขึ้นมาเช่นนี้หาได้ไม่ ฉะนั้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share