คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1068/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำสั่งศาลที่แสดงว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ใช้ยันจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ แต่เมื่อจำเลยพิสูจน์ได้ว่าโจทก์เข้าอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยเจ้าของเดิม และโจทก์ไม่เคยแสดงการเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของเดิมและจำเลยซึ่งเป็นทายาท จำเลยจึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ และเมื่อจำเลยไม่ต้องการให้โจทก์อาศัยต่อไปโจทก์ก็ต้องออกจากที่ดินพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดที่ ๘๐๘๗ ตำบลบ้านแพ้ว อำเภอบ้านแพ้วจังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ ๒๕ ไร่ ๓ งาน เป็นส่วนของโจทก์ ๓ งานและเป็นส่วนของจำเลย ๒๕ ไร่ โดยโจทก์และจำเลยต่างครอบครองส่วนของตนเป็นส่วนสัด โจทก์ประสงค์แบ่งแยกที่ดิน ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดดังกล่าว เนื้อที่ ๓ งาน ตามแผนที่ท้ายฟ้องให้แก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าที่ดินโฉนดที่ ๘๐๘๗ เป็นของจำเลยแต่ผู้เดียวคำสั่งศาลที่แสดงว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวบางส่วนโดยการครอบครองปรปักษ์ ไม่ผูกพันจำเลย โจทก์ไม่เคยครอบครองปรปักษ์ ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่าที่ดินส่วนที่พิพาทกัน จำเลยมีสิทธิดีกว่าโจทก์และเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทในโฉนดที่ ๘๐๘๗ ตำบลบ้านแพ้วอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ ๓ งาน เป็นของจำเลยห้ามโจทก์เข้าเกียวข้อง ส่วนคำฟ้องของโจทก์ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา๑๔๕ วรรคสอง (๒) บัญญัติว่า คำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินใด ๆ เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจใช้ยันบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าข้อเท็จจริงตามคำสั่งศาลในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่๑๔๔/๒๕๒๗ ศาลสั่งว่าที่ดินเนื้อที่ ๓ งานตามแผนที่สังเขปท้ายคำร้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ ๘๐๘๗ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อันเป็นการวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ จึงใช้ยันจำเลยได้ คงมีปัญหาว่าจำเลยพิสูจน์ว่ามีสิทธิดีกว่าโจทก์ได้หรือไม่ แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์เข้าอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยเจ้าของเดิมและโจทก์ไม่เคยแสดงการเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของเดิมและจำเลยซึ่งเป็นทายาท จำเลยจึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์
ส่วนปัญหาที่ว่า จำเลยให้โจทก์อาศัยหรือไม่ ตามข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยมาแล้วว่า โจทก์ได้อาศัยเจ้าของเดิมอยู่ในที่ดินพิพาทเมื่อที่ดินตกเป็นของจำเลย จำเลยไม่ได้ขับไล่โจทก์ออกไป ก็ถือได้ว่าจำเลยให้โจทก์อาศัยต่อมาโดยปริยาย แต่เมื่อจำเลยไม่ต้องการให้อาศัยต่อไป โจทก์ก็ต้องออกจากที่ดินพิพาท
พิพากษายืน.

Share