คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยจะได้รับโทษหนักขึ้นตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 160 วรรคสองนั้น หมายถึงกรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง แล้วเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส มิใช่หมายถึงจำเลยขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 วรรคหนึ่งโจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยก่อความเสียหายแล้วจำเลยได้หลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที มิได้บรรยายอ้างเหตุว่าการที่จำเลยไม่อยู่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร พร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 วรรคหนึ่งนั้น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส จึงไม่อาจลงโทษตามมาตรา 160 วรรคสองได้ ต้องลงโทษตามมาตรา 160 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้แม้คู่ความจะมิได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390, 91พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160 วรรคสอง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นายรังษี ศรีอรพิมพ์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดต่อร่างกาย ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 (ที่ถูก 43(4)), 78, 157, 160 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุก 6 เดือน ฐานหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงในทันทีเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคสองจำคุก 1 เดือน รวมจำคุก 7 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหากระทำโดยประมาทคงเหลือโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคสองจำคุก 1 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง รถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 9ธ-5275โดยมีนายรังษี ศรีอรพิมพ์ โจทก์ร่วมเป็นผู้ขับ และนายประวัติ มุละสีวะ นั่งซ้อนท้ายชนกับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 85-9001 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ขับ ที่บริเวณเสาไฟฟ้าเกาะกลางถนนรามคำแหง ต้นที่ 69 โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัสส่วนนายประวัติได้รับอันตรายแก่กาย คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสได้รับอันตรายแก่กายและทรัพย์สินเสียหายหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมและนายประวัติผู้เสียหายเบิกความประกอบกันว่า โจทก์ร่วมขับรถจักรยานยนต์มีนายประวัตินั่งซ้อนท้ายจากสี่แยกลำสาลีมาตามถนนรามคำแหง เมื่อรถจักรยานยนต์แล่นมาถึงบริเวณปากซอยรามคำแหง 26 โจทก์ร่วมเห็นว่ามีรถยนต์สีแดงจอดอยู่ในช่องเดินรถที่ 1 จึงหักมาในช่องเดินรถที่ 2 ก็เห็นรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ แล่นออกจากซอยรามคำแหง 26 ห่างประมาณ 10เมตร โจทก์ร่วมหยุดรถจักรยานยนต์ไม่ทันได้หักหลบไปในช่องเดินรถที่ 3 แต่ไม่พ้นชนถูกท้ายรถยนต์บรรทุกที่บริเวณมือจับรถจักรยานยนต์ด้านซ้ายมือ ทำให้รถจักรยานยนต์ล้มเห็นว่า โจทก์ร่วมและนายประวัติเบิกความสอดคล้องต้องกันตรงกับคำให้การในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 โดยเฉพาะตามภาพถ่ายหมาย ล.1 ที่บริเวณมือจับรถจักรยานยนต์มีรอยถลอกและภาพถ่ายหมาย ล.2 มีรอยชนที่มุมขวาท้ายรถยนต์บรรทุก จึงตรงกับคำเบิกความของโจทก์ร่วมและนายประวัติ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อส่วนจำเลยมีจำเลยเบิกความว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกมาตามถนนรามคำแหงจากสี่แยกลำสาลีมุ่งหน้าไปสี่แยกคลองตันด้วยความเร็ว 60 ถึง70 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง เลยซอยรามคำแหง 26 ไป 60 ถึง 70 เมตร รถจักรยานยนต์จึงได้ชนถูกท้ายรถยนต์บรรทุกจำเลยแล้วล้มแฉลบไปอยู่ที่เกาะกลางถนน เห็นวา ตามภาพถ่ายหมาย ล.2 ไม่ปรากฏร่องรอยที่ท้ายรถยนต์บรรทุกถูกรถจักรยานยนต์ชน นอกจากที่มุมขวาดังได้วินิจฉัยมาแล้ว นอกจากนั้นตามภาพถ่ายรถจักรยานยนต์หมาย จ.4 ภาพที่ 1ด้านหน้ารถจักรยานยนต์ก็ไม่ปรากฏร่องรอยชนแต่อย่างใด ดังนั้น คำเบิกความของจำเลยจึงขัดแย้งกับภาพถ่ายดังกล่าว พยานจำเลยจึงขาดน้ำหนักไม่อาจฟังหักล้างพยานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจุดชนเกิดบริเวณหมายเลข 3 ตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.2 ห่างจากปากซอยรามคำแหง 26 เป็นระยะ 50 ถึง 60 เมตร เห็นว่า ระยะห่างดังกล่าวไม่ปรากฏในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ อีกทั้งร้อยตำรวจเอกสมเกียรติ ทองใบใหญ่ พนักงานสอบสวนก็ไม่ได้วัดไว้ คำเบิกความตอบคำถามค้านเกี่ยวกับระยะห่างจากปากซอยรามคำแหง 26 ถึงจุดที่เกิดเหตุของร้อยตำรวจเอกสมเกียรติเป็นเพียงการคาดคะเนเอาเอง ระยะห่างจึงไม่แน่นอน แต่จากคำเบิกความของโจทก์ร่วมและนายประวัติซึ่งเป็นประจักษ์พยานต่างเบิกความว่ารถยนต์บรรทุกแล่นออกมาจากซอยรามคำแหง 26 ห่างจากรถจักรยานยนต์ประมาณ 10 เมตร ซึ่งเป็นการเลี้ยวตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด อีกประการหนึ่งในระยะเกิดเหตุรถยนต์บรรทุกและรถจักรยานยนต์ต่างก็เคลื่อนที่ ดังนั้นจุดชนก็ย่อมจะต้องห่างจากปากซอยกว่า 10 เมตร ไม่ใช่รถยนต์บรรทุกแล่นผ่านซอยดังกล่าวไม่น้อยกว่า 50 เมตร แล้วรถจักรยานยนต์จึงแล่นมาชนดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทเลี้ยวรถเข้าถนนรามคำแหงอย่างกะทันหัน ทำให้เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ร่วมขับโดยมีนายประวัตินั่งซ้อนท้ายเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส นายประวัติได้รับอันตรายแก่กายและรถจักรยานยนต์เสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในข้อหาจำเลยกระทำโดยประมาทนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานไม่ให้ความช่วยเหลือและพร้อมแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที และการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 วรรคสอง นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะว่าการที่จำเลยจะได้รับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 160 วรรคสอง หมายถึง กรณีที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง แล้วเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส มิใช่หมายถึงจำเลยขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยก่อความเสียหายแล้วจำเลยได้หลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที มิได้บรรยายอ้างเหตุว่า การที่จำเลยไม่อยู่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร พร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78วรรคหนึ่ง นั้น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส คดีจึงไม่อาจลงโทษตามมาตรา 160 วรรคสองได้ ต้องลงโทษตามมาตรา 160 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้แม้คู่ความจะมิได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4”

พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง, 160 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share