คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10660/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สัญญาจ้างว่าความระบุให้โจทก์ในฐานะทนายความจำเลยดำเนินคดีต่อศาลแรงงานกลางเรียกร้องค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินโบนัส ค่าเสียหายในการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เงินกองทุนเลี้ยงชีพที่ค้างชำระ และเงินรางวัลขยันระหว่างปี แต่การที่โจทก์ซึ่งทราบดีว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด กลับระบุในคำฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายบางส่วน สูงเกินสิทธิที่จำเลยจะได้รับ และบางส่วนจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับเลย ทั้งนี้เพื่อให้จำนวนทุนทรัพย์ในคดีสูงเกินจริงเพื่อประโยชน์ในค่าจ้างว่าความที่ตนจะได้รับจากจำเลยในอัตราร้อยละ 10 ของจำนวนทุนทรัพย์ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างว่าความ จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ไม่อาจถือเอาจำนวนทุนทรัพย์ตามฟ้องดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าจ้างว่าความตามสัญญาจ้างว่าความได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์ได้กระทำการตามสัญญาจ้างว่าความจนศาลแรงงานกลางและศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยได้รับชดใช้ค่าเสียหายไปบางส่วนจนคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดอัตราค่าจ้างให้ตามสมควรแก่ผลแห่งการงานที่โจทก์ได้กระทำเป็นจำนวน 15,000 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 45,990 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 39,992 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลมีสิทธิปรับลดค่าจ้างตามข้อตกลงที่โจทก์กับจำเลยทำกันไว้หรือไม่ เห็นว่า สัญญาจ้างว่าความระบุให้โจทก์ดำเนินคดีต่อศาลแรงงานกลางเกี่ยวกับค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินโบนัส ค่าเสียหายในการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เงินกองทุนเลี้ยงชีพที่ค้างชำระ และเงินรางวัลขยันระหว่างปีเท่านั้น แต่ปรากฏตามคำฟ้องคดีแรงงานโจทก์ในฐานะทนายความจำเลยยื่นฟ้องบริษัทดังกล่าวเรียกค่าชดเชย 66,400 บาท ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 18,450 บาท เงินพักผ่อนประจำปี 3,690 บาท เงินโบนัสประจำปีที่ถูกเลิกจ้าง 9,225 บาท เงินกองทุนเลี้ยงชีพค้างชำระ 36,834 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 99,630 บาท และค่าขาดรายได้ก่อนเกษียณอายุในการทำงาน 265,680 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 499,929 บาท และตามสำเนาคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้บริษัทดังกล่าวรับผิดชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหาย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมเป็นเงิน 225,024 บาท เท่านั้น โดยมีบางรายการที่จำเลยฟ้องเรียกนั้นจำเลยมีสิทธิได้รับบางส่วน บางรายการไม่มีสิทธิได้รับเลย รวมจำนวนทุนทรัพย์ในส่วนที่จำเลยไม่มีสิทธิได้รับมีสูงถึง 270,000 บาทเศษ โจทก์ซึ่งเป็นทนายความมีความรู้เรื่องกฎหมายแรงงาน ย่อมต้องทราบว่าจำเลยมีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายในเงินส่วนใดเป็นจำนวนเท่าใดบ้าง แต่โจทก์กลับยื่นฟ้องให้จำเลยเรียกร้องเงินเป็นจำนวนสูงเกินกว่าสิทธิที่จำเลยมีอยู่ตามกฎหมายเป็นจำนวนมาก เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์จะกำหนดจำนวนทุนทรัพย์ในคดีให้สูงเกินความจริงเพื่อประโยชน์ในค่าจ้างว่าความที่ตนจะได้รับจากจำเลย ซึ่งเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่อาจถือเอาจำนวนทุนทรัพย์ตามฟ้องดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณค่าจ้างว่าความตามสัญญาจ้างว่าความ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิเคราะห์ถึงการงานที่โจทก์ได้กระทำประกอบสัญญาจ้างดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าจ้างให้โจทก์ 15,000 บาท เมื่อจำเลยชำระเงินให้โจทก์แล้ว 10,000 บาท จึงต้องรับผิดชำระค่าจ้างให้โจทก์อีก 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัด ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share