คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1066/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ล. เป็นบิดา ฉ.เป็นมารดาของภ.พ.และอ. เมื่อ ล. ตาย ตึกพิพาทก็ตกเป็นมรดกแก่ฉ.ภ.พ.และอ. ผลที่สุดเมื่อฉ. ตายอีก ก็ตกเป็นมรดกแก่ภ.พ.และอ. พ.และอ.มอบให้ภ. เป็นผู้จัดการภ.มอบอำนาจให้ส. เป็นผู้จัดการแทนอีกทอดหนึ่งหนังสือมอบอำนาจจะเขียนว่าตึกพิพาทเป็นมรดกของล.หรือฉ. ก็หามีความหมายผิดกันไม่ และการที่เจ้าของกรรมสิทธิ์มอบอำนาจทั่วไปแก่ ส. นี้ก็ไม่ใช่เรื่องผู้จัดการมรดก ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1715 และ1358 ไม่ต้องกับรูปคดีนี้
เมื่อทำสัญญาเช่าก็เขียนชื่อจำเลยที่ 1 ไว้ว่าเป็นเจ้าของบริษัทจำเลยที่ 2 เมื่อนำสืบก็รับว่ามีคนภายนอกถือหุ้นอยู่ด้วยไม่เกินร้อยละสิบ ที่ตั้งทำการของจำเลยที่ 2 ก็คือตึกรายพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าไปเป็นเหตุผลเพียงพอให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย โจทก์ระบุชัดในคำฟ้องเรียกบริษัทเป็นจำเลยที่ 2 โดยบรรยายด้วยว่าเป็นนิติบุคคล คำขอให้ขับไล่จำเลยย่อมหมายถึงจำเลยทั้งสอง
โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกรายพิพาทในขณะที่ฟ้องขับไล่ ไม่จำต้องบรรยายฟ้องโดยละเอียดถึงความเป็นมาแห่งตึกนี้
คำฟ้องระบุชื่อจำเลยทั้งสองไว้ในตอนต้นแล้ว ตอนต่อๆไปแม้จะใช้คำว่าจำเลยก็มีความหมายว่าจำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ตึกรายพิพาทเป็นของพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร และพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ซึ่งมอบอำนาจให้พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลจัดการผลประโยชน์ มีสิทธิฟ้องร้องและตั้งตัวแทน พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลมอบอำนาจให้นายสง่า ณ ระนองดูแลจัดการผลประโยชน์ และมีอำนาจฟ้องคดีได้ จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลและจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้เช่าตึกของโจทก์เพื่อประกอบการค้า 3 ปี ครบกำหนดแล้วโจทก์บอกเลิกการเช่า จำเลยเพิกเฉยเสียทำให้เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน และให้จำเลยออกจากตึกนี้

จำเลยที่ 1 ให้การว่าฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สำเนาสัญญาเช่าท้ายฟ้องไม่ถูกต้องจำเลยที่ 1 เช่าเพื่ออาศัยอยู่เองส่วนหนึ่งนอกนั้นให้เช่าช่วงและมีข้อตกลงว่าผู้ให้เช่ายอมให้เช่าช่วงบางส่วนได้ จำเลยที่ 1 และผู้เช่าช่วงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าฯ จำเลยที่ 1 ไม่เคยเช่าตึกพิพาทแทนจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1 การอยู่ไม่เป็นละเมิด คงเรียกได้แต่ค่าเช่าซึ่งสูงมากแล้ว หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องจะถูกต้องหรือไม่ ไม่ทราบและไม่รับรอง

จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทำสัญญาเช่าตึกพิพาทในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มิใช่คู่สัญญากับโจทก์ ๆ ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์เป็นเจ้าของตึกพิพาทหรือไม่ เอกสารท้ายฟ้องถูกต้องชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ไม่รับรองฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ทราบว่าตึกพิพาทเป็นของผู้ใดแน่ คำบรรยายฟ้องใช้คำว่าจำเลยก็ไม่ชัดว่าทั้งสองคนหรือคนใด จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชำระค่าเช่าค่าเสียหาย

ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็น 7 ข้อ พิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหาย ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากตึกพิพาทกับให้ใช้ค่าเสียหายนับแต่วันฟ้อง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา โดยติดใจฎีกาเพียง 5 ประเด็น

ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นข้อแรกที่จำเลยค้านว่าหนังสือมอบอำนาจหมายเลข 1 ระบุว่าพระองค์เจ้าเฉลิมพลฯ และพระองค์เจ้าอนุสรณ์ฯ ผู้มีส่วนรับพระมรดกของสมเด็จฯ กรมหลวงลพบุรีฯร่วมกับพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ ได้ตกลงมอบพระมรดกรายนี้ให้พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ เป็นผู้จัดการ ฯลฯ จำเลยถือว่ามิใช่ให้มีอำนาจในพระมรดกพระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรฯ ส่วนหนังสือมอบอำนาจหมายเลข 2 ระบุว่าพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ ได้แต่งตั้งนายสง่า ณ ระนอง มีอำนาจทำการแทน ก็อ้างถึงทรัพย์สินกองมรดกสมเด็จฯกรมหลวงลพบุรีฯ นายสง่าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง และควรฟังว่ามรดกของพระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรฯ มีผู้จัดการมรดก 3 คน คือพระโอรสทั้งสามที่กล่าวนั้น ซึ่งจะต้องร่วมกันฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1715 หรือเห็นชอบด้วยตามมาตรา 1358 นั้น เห็นว่าสมเด็จฯ กรมหลวงลพบุรีฯ กับพระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรฯ เป็นพระชนกและชนนีของพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฯ และพระองค์เจ้าอนุสรฯ หนังสือมอบอำนาจจะเขียนพระนามพระชนกหรือพระชนนีก็หามีความหมายผิดกันไม่ เพราะผลที่สุดตึกพิพาทนี้ได้ตกเป็นมรดกแก่พระโอรสทั้งสามนี้ และเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้มอบอำนาจทั่วไปแก่นายสง่าซึ่งจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งต้นฉบับหนังสือนี้ และคดีนี้ไม่ใช่เรื่องผู้จัดการมรดกแต่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกพิพาทประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2 มาตรา ที่จำเลยอ้างนั้น ไม่ตรงกับรูปคดีนี้

ประเด็นข้อ 2 เป็นเรื่องของจำเลยที่ 2 ว่าได้ถูกฟ้องเป็นคู่ความด้วยหรือไม่นั้น เมื่อทำสัญญาเช่าก็เขียนชื่อจำเลยที่ 1 ไว้ว่าเป็นเจ้าของบริษัทจำเลยที่ 2 และเมื่อนำสืบก็รับว่ามีคนภายนอกถือหุ้นอยู่ด้วยไม่เกินร้อยละสิบ ที่ตั้งทำการของจำเลยที่ 2 ก็คือตึกรายพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 เช่าไป เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะให้โจทก์ถือว่าควรจะฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วยได้โจทก์จึงได้ระบุชัดในคำฟ้องเรียกบริษัทห้างขายยาอังกฤษตรางูเป็นจำเลยที่ 2 โดยบรรยายฟ้องด้วยว่าเป็นนิติบุคคล ดังนี้ คำขอให้ขับไล่จำเลยย่อมหมายถึงจำเลยทั้งสอง อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ 2 ได้อยู่ในตึกพิพาทโดยไม่มีข้อต่อสู้ ไม่ได้นำสืบต่อสู้ ศาลจึงพิพากษาขับไล่จำเลย

ประเด็นข้อ 3 เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตึกพิพาทในขณะฟ้องความไม่จำต้องบรรยายโดยละเอียดถึงความเป็นมาแห่งทรัพย์มรดกรายนี้ และคำฟ้องก็ระบุชื่อจำเลยทั้งสองไว้ในตอนต้นแล้ว ตอนต่อ ๆ ไปแม้ใช้คำว่าจำเลย ก็เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์ถือว่าเป็นผู้เช่าร่วมกันอยู่ จำเลยไม่หลงต่อสู้ประเด็นข้อ 4 ข้อที่ว่า สำเนาสัญญาเช่าท้ายฟ้องไม่ตรงกับต้นฉบับ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามสัญญาเช่าที่ส่งอ้างต่อศาล นั้นคู่ความได้รับกันแล้วว่าต้นฉบับที่โจทก์ส่งอ้างต่อศาลถูกต้องตรงกับคู่ฉบับซึ่งอยู่ที่จำเลยที่ 1 แม้โจทก์คัดสำเนาติดท้ายฟ้องจะพลั้งเผลอตกหล่นไปบ้างก็ไม่ขาดข้อความสำคัญ อันเป็นพยานหลักฐานได้

ประเด็นสุดท้าย เป็นเรื่องการบอกกล่าวเลิกการเช่า ฟังได้แล้วว่าโจทก์ส่งคำบอกกล่าวแก่จำเลยแล้ว

พิพากษายืน

Share