คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1062/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างและตกลงกันได้ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงคือสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งยื่นข้อเรียกร้องนั้น จึงถือได้ว่าสมาชิกสหภาพแรงงานเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องที่สหภาพแรงงานยื่นต่อนายจ้าง ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 การที่นายจ้างเลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 41(4) มิได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการสั่งเรื่องค่าเสียหายในกรณีเลิกจ้างอันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมได้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะกำหนดค่าเสียหายให้ลูกจ้างตามที่เห็นสมควรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง ต่อมาหน่วยงานท้ายบ้าน ซึ่งเป็นหน่วยซ่อมบำรุงและสโตร์ประสบภาวะการทำงานไม่ได้ผลคุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย จึงจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้าง 18 คน ซึ่งมีนายสุเทพสวัสดินันท์ กับพวกรวม 13 คนอยู่ด้วย โดยจ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมายเมื่อวันที่ 14, 20 และ 24 กรกฎาคม 2524 นายสุเทพกับพวกดังกล่าวได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่า ถูกโจทก์เลิกจ้างเพราะเหตุเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเหล็กและโลหะแห่งประเทศไทยและเลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับอยู่ ขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นประธานกรรมการและจำเลยอื่นซึ่งเป็นกรรมการคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้มีคำสั่งที่ 119, 120, 121/2524 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน2524 ว่า การเลิกจ้างผู้กล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 12 เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 ให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายให้ผู้กล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 12 ส่วนผู้กล่าวหาที่ 13 เข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หลังจากสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องแล้ว จึงไม่ได้รับผลประโยชน์ผูกพันตามมาตรา 123 ให้ยกคำร้อง ซึ่งเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะลูกจ้างที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 123 ต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง ผู้กล่าวหาทั้งหมดเป็นเพียงสมาชิกสหภาพแรงงานเหล็กและโลหะแห่งประเทศไทยเท่านั้น มิได้เป็นกรรมการ อนุกรรมการของสหภาพแรงงานมิได้เป็นตัวแทนในการเรียกร้อง เจรจาเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องหรือเจรจาและมิได้เป็นผู้มอบหมายหรือมอบอำนาจให้สหภาพแรงงานทำการเรียกร้องจึงถือไม่ได้ว่า ผู้กล่าวหาเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง และการพิจารณามีคำสั่งเกี่ยวกับค่าเสียหายของจำเลยเป็นการมิชอบ กล่าวคือจำเลยวางระเบียบการคำนวณค่าเสียหายในกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไว้ว่า ให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายแก่ลูกจ้างตามจำนวนปีที่ทำงาน ในอัตราปีละ 1 เดือนของค่าจ้างเป็นเกณฑ์ตายตัวโดยมิได้สอบสวนถึงความเสียหายอันแท้จริงที่เกิดขึ้นแก่ผู้กล่าวหาเป็นรายบุคคลและมิได้นำเอาเหตุอื่น ๆ ที่จำเลยอ้างได้ดังกล่าวข้างต้นมาประกอบการพิจารณา ทั้งจำเลยมิได้ให้ผู้กล่าวหานำสืบหรือพิสูจน์ถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือที่ได้รับแต่อย่างใดจำเลยวินิจฉัยโดยปราศจากพยานหลักฐานเกี่ยวกับค่าเสียหาย ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 119, 120, 121/2524 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน2524

จำเลยให้การว่า โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหากับพวกมิใช่เพราะประสบภาวะการทำงานไม่ได้ผลคุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย และพนักงานขาดประสิทธิภาพอันเป็นความจำเป็นทางเศรษฐกิจและการบริหารที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และผู้กล่าวหาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 86 และ 98 ให้สหภาพแรงงานมีอำนาจเรียกร้อง เจรจาหรือจัดการดำเนินการอย่างใดให้สมาชิกได้รับประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างได้ เมื่อสหภาพยื่นข้อเรียกร้องและทำข้อตกลงกับนายจ้างอย่างใด ข้อเรียกร้องและข้อตกลงดังกล่าวต้องผูกพันลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของสหภาพทุกคนจึงถือว่าผู้กล่าวหาเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องด้วย สำหรับค่าเสียหายจำเลยได้วินิจฉัยโดยพิจารณาถึงความเสียหายของลูกจ้างเป็นราย ๆ ไปโดยอาศัยข้อมูลคือระยะเวลาทำงานตำแหน่งหน้าที่การงานและอายุของลูกจ้าง พฤติการณ์ความหนักเบาที่นายจ้างกลั่นแกล้ง มูลเหตุการเลิกจ้างอัตราค่าจ้าง ระยะเวลาที่ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน ก่อนมีคำสั่งชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนเลิกจ้างหรือไม่มีการจ่ายเงินค่าชดเชยหรือไม่ ลูกจ้างมีส่วนกระทำผิดหรือไม่ จำเลยได้สอบสวนข้อเท็จจริงต่าง ๆ ดังกล่าวประกอบการพิจารณาแล้ว เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 119, 120, 121/2524 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2524 จึงชอบด้วยเหตุผลและกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

วันนัดพิจารณาโจทก์จำเลยรับข้อเท็จจริงกันว่า โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 12 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2524 วันที่ 8 เมษายน 2524 สหภาพแรงงานเหล็กและโลหะแห่งประเทศไทย ซึ่งลูกจ้างของโจทก์เฉพาะพนักงานที่หน่วยงานท้ายบ้านเป็นสมาชิกอยู่ได้ยื่นข้อเรียกร้อง โจทก์กับสหภาพแรงงานตกลงกันได้ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2524 ข้อตกลงนี้มิได้กำหนดเวลาว่ามีผลบังคับนานเท่าใด โจทก์จำเลยแถลงว่าวัตถุประสงค์ที่โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาก็เพื่อลดคนงานที่หน่วยงานท้ายบ้าน ผู้กล่าวหาเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ที่หน่วยงานท้ายบ้านขณะนี้หน่วยงานท้ายบ้านยังดำเนินกิจการอยู่ แต่ลดคนงานลงผู้กล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 12 เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเหล็กและโลหะแห่งประเทศไทยอยู่ก่อนที่สหภาพแรงงานจะยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ แต่มิได้มอบอำนาจให้สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องสำหรับค่าเสียหายนั้นจำเลยกำหนดโดยถือเอาระยะเวลาทำงานหนึ่งปีต่อค่าเสียหายหนึ่งเดือนเป็นเกณฑ์คำนวณตามอายุงาน คำสั่งของจำเลยปรากฏตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งจำเลยรับรองว่าถูกต้อง และจำเลยแถลงว่าจำเลยไม่ได้นำเอาค่าชดเชยมารวมในค่าเสียหายเพราะโจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้กล่าวหาไปแล้ว ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้กล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 12 เป็นลูกจ้างและสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 คำสั่งของจำเลยชอบแล้วและเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่จะกำหนดค่าเสียหายได้ตามที่เห็นสมควร การที่จำเลยได้กำหนดถือเอาอายุงาน ตำแหน่งหน้าที่การงานของลูกจ้าง มูลเหตุการเลิกจ้าง อัตราค่าจ้างเป็นหลักในการคำนวณค่าเสียหายนั้น มิใช่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยต้องรับฟังข้อเท็จจริงจากสำนวนการสอบสวนมาพิจารณาประกอบกับหลักเกณฑ์ที่วางไว้ และมิได้รับฟังข้อเท็จจริงผิดไปจากความเป็นจริงการที่จำเลยกำหนดค่าเสียหายตามดุลพินิจของตนเป็นการชอบด้วยกฎหมายไม่มีเหตุที่ศาลจะเพิกถอนได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า สหภาพแรงงานมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของสมาชิกสหภาพแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 98 และมาตรา 15แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวสหภาพแรงงานจะยื่นข้อเรียกร้องแทนลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกได้ ต้องมีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด การที่ผู้กล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 12 เป็นสมาชิกอยู่ในขณะที่สภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้อง จึงนับว่ามีส่วนทำให้สหภาพแรงงานเหล็กและโลหะแห่งประเทศไทยยื่นข้อเรียกร้องได้ และในการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานผู้กล่าวหาที่ 1ถึงที่ 12 ก็อยู่ในฐานะที่อาจได้รับหรือเสียประโยชน์ในข้อเรียกร้องนั้น เพราะมูลกรณีแห่งการเรียกร้องมาจากหน่วยงานท้ายบ้าน ซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพที่ผู้กล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 12 ทำงานประจำอยู่ เมื่อสหภาพแรงงานและโจทก์ตกลงกันได้ ผู้กล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 12 เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากข้อตกลงด้วย จึงถือได้ว่าผู้กล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 12 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องที่สหภาพแรงงานยื่นต่อโจทก์และได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 โดยมิจำต้องมีการกระทำดังอุทธรณ์โจทก์ การที่โจทก์เลิกจ้างผู้กล่าวหาทั้งสิบสองดังกล่าวในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสหภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

ส่วนเรื่องค่าเสียหายนั้น ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 41(4) ได้บัญญัติว่า “(4) ฯลฯ ในกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้มีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหาย ฯลฯ” เป็นการให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้นายจ้างซึ่งเลิกจ้างอันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมจ่ายค่าเสียหายได้ โดยมิได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการสั่งไว้ จึงเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามที่เห็นสมควร ทั้งมิได้กำหนดว่าเป็นหน้าที่ของลูกจ้างหรือผู้กล่าวหาที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ให้ปรากฏถึงความเสียหาย และค่าเสียหายและการที่นายจ้างหรือโจทก์เลิกจ้างลูกจ้าง หรือผู้กล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 12 ย่อมเป็นที่เห็นได้แล้วว่า การกระทำของโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้กล่าวหาดังกล่าวที่ต้องออกจากงาน ขาดรายได้ ส่วนกำหนดค่าเสียหายนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอายุงาน ตำแหน่งหน้าที่การงาน อัตราค่าจ้างของผู้กล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 12 และมูลเหตุการเลิกจ้างตามสำนวนสอบสวนของจำเลยแล้วการที่จำเลยใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายโดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นการสมควรแล้ว

พิพากษายืน

Share