คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1060/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำละเมิดโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างลูกจ้าง โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะเหตุสุดวิสัย และว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทกันแล้ว ดังนี้ประเด็นที่สำคัญที่จะต้องวินิจฉัยเบื้องต้น คือ โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมระงับข้อพิพาทกันไว้แล้วจริงหรือไม่ ถ้าได้ทำไว้จริงก็ไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไป
เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 1 ได้ปลดเปลื้องไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วก็ไม่มีความรับผิดที่จะให้จำเลยที่ 2 ร่วมชดใช้ค่าเสียหายอันใดอีก แม้โจทก์จะไม่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 ก็ตาม โจทก์หมดสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ย่อมหมดสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องมีใจความว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารโดยประมาท ทำให้รถพลิกคว่ำเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัสและมีคนตาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 96,500 บาท

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 รถที่จำเลยที่ 2 ขับเกิดพลิกคว่ำเพราะเหตุสุดวิสัย และจำเลยที่ 1 ตัดฟ้องว่า ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ได้รับบาดเจ็บรวมทั้งโจทก์และผู้ตายอื่น ๆ ทั้งหมดจนมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันระงับข้อพิพาทกับจำเลยแล้วขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นฟังว่า รถคว่ำเพราะเหตุสุดวิสัยทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า หากฟังข้อเท็จจริงได้ว่า โจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทกับจำเลยที่ 1 ไว้จริงแล้ว โจทก์หรือจำเลยที่ 1 จะรื้อฟื้นเหตุเป็นข้อพิพาทเดิมกลับมาว่ากล่าวแก้กันอีกหาได้ไม่ ผลของสัญญาประนีประนอมย่อมทำให้การเรียกร้องเดิมระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญา เมื่อคู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมจะใช้ค่าเสียหายตามที่ตกลงประนีประนอมกันแล้วก็ต้องใช้ตามนั้น และอีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องค่าเสียหายมากกว่าที่ตกลงกันไว้ก็ไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้น คดีจึงมีข้อที่จะต้องวินิจฉัยถึงสัญญาประนีประนอมยอมความที่จำเลยต่อสู้ไว้เป็นประการแรกถ้าได้ความจริงก็ไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไป ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยถึงเหตุรถคว่ำว่าเป็นเหตุสุดวิสัยโดยถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องวินิจฉัยเบื้องต้น แล้วไม่วินิจฉัยถึงประเด็นอื่น ย่อมไม่ตรงกับรูปเรื่อง

ศาลฎีกาฟังว่า โจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 และได้รับเงินจำนวนตามสัญญาไปครบถ้วนแล้ว โจทก์ย่อมหมดสิทธิจะเรียกร้องเอาค่าเสียหายนอกจากนั้นได้

สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 1 ได้ปลดเปลื้องไปหมดแล้ว ก็ไม่มีความรับผิดที่จะให้จำเลยที่ 2 ร่วมชดใช้ค่าเสียหายอันใดอีก เมื่อโจทก์หมดสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ย่อมหมดสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย

พิพากษายืน

Share