คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1059/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องอ้างว่า ได้ภารจำยอมทั้งโดยอายุความ 10 ปีและโดยนิติกรรมด้วย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้โดยนิติกรรมก็ใช้ได้
โจทก์เป็นทายาท จำเลยเป็นทายาทและเป็นผู้จัดการมรดก ทำสัญญาแบ่งปันมรดกกันซึ่งตามสัญญานี้ผูกพันทางเดินรายพิพาทซึ่งอยู่ในโฉนดของจำเลยให้ตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ดังนี้ โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยในฐานะที่เป็นเจ้าของภารยทรัพย์และเป็นคู่สัญญา ในสัญญาแบ่งปันมรดกให้ไปจดทะเบียนทางรายพิพาทเป็นภารจำยอมได้
ภารจำยอมซึ่งเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้มาโดยทางนิติกรรมทำเป็นหนังสือ เมื่อไม่ได้จดทะเบียนก็ยังไม่บริบูรณ์ตาม มาตรา 1299 โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างจากทางเดินซึ่งตกอยู่ในภารจำยอมนั้นยังไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินติดต่อกัน ต่างได้รับมรดกจากพระยานครราชเสนี ใช้ถนนซอยซึ่งอยู่ในที่ของจำเลยมากว่า 10 ปี และในสัญญาแบ่งมรดกก็มีว่า ทางเดินรายนี้อยู่ในที่ดินของจำเลย จะปิดไม่ได้ จะให้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เมื่อ พ.ศ. 2487 จำเลยได้ปลูกสร้างรุกล้ำทางรายนี้และให้คนอื่นเช่าตั้งโต๊ะและเก้าอี้เป็นการกีดขวางทาง จึงขอให้จำเลยรื้อสิ่งปลูกสร้างและสิ่งกีดขวางให้คืนสภาพเดิมและให้แยกถนนซอยนั้นออกเป็นที่สาธารณะหรือให้จดทะเบียนที่ดินถนนซอยตามข้อสัญญาแบ่งมรดกจำเลยให้การว่าทางนี้เดิมเป็นเจ้าของที่คนเดียวกัน จะนับอายุความมาใช้ในการนี้ไม่ได้ และข้อตกลงในการแบ่งมรดกเกี่ยวกับช่องว่างรายพิพาทในสัญญาหมายความว่า ยอมให้ใช้ในฐานะเป็นเพียงทางเข้าออกโดยเฉพาะ และในระหว่างคู่สัญญาหรือผู้เช่าผู้อาศัยของคู่สัญญาฝ่ายที่มีอาณาเขตติดต่อกับที่จำเลยเท่านั้น และข้อตกลงนั้นไม่ได้จดทะเบียน ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย

ศาลชั้นต้นฟังว่า ทางพิพาทมีมา 30 ปี ไม่ใช่ทางสาธารณะเพิ่งแบ่งแยกเมื่อ พ.ศ. 2486 ยังไม่ครบ 10 ปี แต่ตามสัญญาแบ่งมรดกว่าจะไม่ปิดทางนี้ ยอมให้ผู้อื่นใช้เข้าออกได้การที่จำเลยให้ผู้อื่นเช่าตั้งร้าน และตั้งสิ่งกีดขวางจึงไม่ชอบพิพากษาให้จำเลยรื้อสิ่งปลูกสร้างและสิ่งกีดขวางทางเดิน ฟ้องข้ออื่นให้ยก

โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ทางรายนี้ตกเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์แล้ว พิพากษาแก้ให้จำเลยไปจดทะเบียนทางรายพิพาทเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์นอกนั้นยืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

(1) ฎีกาข้อ 3 ที่ว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าได้ภาระจำยอมโดยอายุความ 10 ปี มิได้อ้างว่าได้มาโดยนิติกรรมนั้นปรากฏว่าฟ้องโจทก์ได้กล่าวอ้างมาทั้ง 2 ประการ

(2) ตามฎีกาข้อ 4 นั้นปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก และเจ้าของภารยทรัพย์ไปจดทะเบียนทางรายพิพาทเป็นภารจำยอม ฉะนั้นแม้จะถือว่าจะบังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกไม่ได้ ก็ยังคงบังคับจำเลยในฐานะเจ้าของภารยะทรัพย์ และเป็นคู่สัญญาในสัญญาแบ่งมรดกให้จดทะเบียนทางภารจำยอมได้ ข้อที่จำเลยว่าการจดทะเบียนจะต้องทำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายนั้นเห็นว่าจำเลยเป็นเจ้าของภารยะทรัพย์ผู้เดียว โจทก์ย่อมฟ้องขอให้บังคับจำเลยผู้เดียวได้เพราะโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาแบ่งมรดกนั้นเองโดยตรง

คดีนี้การได้ภารจำยอมของโจทก์ซึ่งเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นการได้มาโดยนิติกรรมทำเป็นหนังสือ แต่มิได้มีการจดทะเบียนจึงยังไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 โจทก์จึงจะฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในคดีนี้ยังไม่ได้

พิพากษาแก้คำบังคับที่ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างให้ยกเสียนอกนั้นยืนตาม

Share