คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1058/2475

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นนิติบุคคลนั้นหมายเอาความรวมการปกครองท้องที่
วิธีพิจารณาแพ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดฟ้องเรียกเงินอากรค่านาได้อย่างไรเป็นฟ้องซ้ำคดี คดีที่ศาลยังหาได้พิจารณาข้อหาคำให้การและคำพะยานไม่เป็นฟ้องซ้ำคดี ลักษณพะยาน ศาลจะยกข้อเท็จจริงในสำนวนอื่นมาปรับกับอีกสำนวนหนึ่งไม่ได้

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินอากรค่านาจากจำเลยที่ค้างมารวม ๒ ปี จำเลยสู้ว่า
๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ใช่นิติบุคคล เป็นโจทก์ฟ้องความไม่ได้
๒ คดีนี้ศาลตัดสินเสร็จเด็ดขาดไปครั้งหนึ่งแล้ว ฟ้องซ้ำไม่ได้
๓ ศาลจะยกเอาข้อเท็จจริงในสำนวนอื่นมาปรับสัตย์ตัดสินสำนวนนี้ไม่ได้
ในฎีกาข้อ ๑ นั้น คำว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัด ” มีความหมายเป็น ๒ นัยคือ เป็นบุคคลธรรมดา และ นิติบุคคลได้ทั้ง ๒ ประการที่เป็นนิติบุคคลนั้นหมายเอาความรวมการปกครองซึงแบ่งแยกเป็นท้องที่ ๆ มีหัวหน้าอำนายการมีนามว่าสมุหเทศาบ้าง ผู้ว่าราชการจังหวัดบ้างตามท้องที่ใหญ่และน้อย ซึ่งสมกับคำในประมวลแพ่ง ม. ๗๒ – ๗๓ ที่ว่าทบวงการเมืองนั้นคือกระทวงกรม เทศาภิบาลปกครองท้องที่ แลประชาบาลทั้งหลาย”เทศาภิบาล” นั้นหาได้หมายฉะเพาะตัวบุคคล ท่านหมายถึงความรวมการปกครองท้องที่ด้วยฉะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยได้ (เทียบฎีกาที่ ๕๔๔/๒๔๗๕)
ในข้อ ๒ เห็นว่าไม่ใข่เป็นคดีที่ตัดสินเสร็จ เด็ดขาดแล้วเพราะว่าคดีก่อนที่ขุนอินทร์รัตนาการสรรพกรจังหวัดเป็นโจทก์นั้น ศาลพิจารณาแต่ฉะเพาะอำนาจฟ้องเท่านั้น หาได้พิจารณาข้อหาคำให้การและคำพะยานไม่
ในปัญหาข้อ ๓ นั้น ศาลฎีกาเห็นชอบด้วย และด้วยเหตุ ๒ ประการนั้นคือ
๑ เมื่อสำนวนที่ขุนอินทร์ ฯ เป็นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นก็ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา
๒ ในสำนวนนี้จำเลยให้การปฏิเสธและตัดฟ้องหลายข้อต่างกับคำให้การในสำนวนโน้น โจทก์จำเลยมีความประสงค์จะสืบพะยานของตนและจำเลยหาได้ขออ้างสำนวนโน้นเป็นพะยานไม่ เป็นอันว่าสำนวนนี้ยังมิได้พิจารณา
จึงตัดสินให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้ง ๒ เสีย ให้ศาลเดิมพิจารณาคดีแล้วตัดสินใหม่ตามรูปคดี

Share