แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 ชักปืนออกจากหน้าท้องส่งให้จำเลยที่ 1 จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 มีไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตซึ่งอาวุธปืนของกลางและพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าจำเลยที่ 3 ถือปืนไว้ชั่วคราวมิได้มีเจตนายึดถือเพื่อตน จึงไม่ถือว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ครอบครองอาวุธปืนไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯนั้นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 3 ยกขึ้นมาเป็นข้อฎีกาเพื่อปรับบทความผิดนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา เป็นฎีกาที่ให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงต่างกับที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดกระทงแรกจำคุก 2 ปี กระทงหลังจำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ฎีกาของจำเลยที่ 3 จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้
จำเลยที่ 3 มีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองแล้วพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะนั้น เห็นได้ว่ามีเจตนาที่จะทำให้เกิดผลเป็นความผิดหลายอย่างต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐, ๘๓, ๙๑, ๒๘๘, ๒๙๕, ๓๗๑, ๓๙๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพฐานมีอาวุธปืน และรับว่าได้ใช้อาวุธปืนยิงจริง แต่มิได้มีเจตนาฆ่า
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา ๗, ๗๒ กระทงหนึ่ง ให้จำคุกคนละ ๒ ปี ข้อหาตามมาตรา ๘ ทวิ, ๗๒ ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑ ให้ลงโทษตามมาตรา ๘ ทวิ, ๗๒ ทวิ อันเป็นกระทง (น่าจะเป็นบท)หนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ อีกกระทงหนึ่งให้จำคุกคนละ ๑ ปี รวมจำคุกคนละ ๓ ปี จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพลดโทษให้ตามมาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๑ ปี ๖ เดือน ข้อหาพยายามฆ่าสำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ให้ยกฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ ๒ ที่ ๔ ให้ยกฟ้อง ริบของกลาง แต่มีดของกลางคืนเจ้าของ
โจทก์และจำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ ๓ ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครองครองโดยมิได้รับอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรหรือไม่ และความผิดของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวกันหรือไม่ ในปัญหาแรกนั้นศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ ๓ ชักปืนออกจากหน้าท้องส่งให้จำเลยที่ ๑ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ ๓ มีไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตซึ่งอาวุธปืนของกลางและพาอาวุธปืนดังกล่าวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควรจำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๓ ถือปืนไว้ชั่วคราวมิได้มีเจตนายึดถือเพื่อตน จึงไม่ถือว่าจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ครอบครองอาวุธปืน ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ เห็นว่าข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ ๓ ยกขึ้นมาเป็นข้อฎีกาเพื่อปรับบทความผิดนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา เป็นการฎีกาที่ให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงต่างกับที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ ๓ ในความผิดกระทงแรกจำคุก ๒ ปี กระทงหลังจำคุก ๑ ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ฎีกาของจำเลยที่ ๓ ข้อนี้ จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้
ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ ๓ ประการหลังนั้นเห็นว่า การที่จำเลยที่ ๓ มีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองแล้วพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ นั้น เห็นได้ว่ามีเจตนาที่จะทำให้เกิดผลเป็นความผิดหลายอย่างต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน.