แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยพิพาทกันว่าใครมีสิทธิครอบครองที่พิพาท คำที่จำเลยได้เคยกล่าวกับบุคคลภายนอกว่า จำเลยรับจำนำที่นาแปลงพิพาทไว้จากโจทก์นั้น เป็นคำกล่าวที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของตนเอง ใช้ยันจำเลยได้
โจทก์กู้เงินจำเลยแล้วมอบที่นาให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยการที่จำเลยครอบครองทำกินในที่นาแปลงพิพาท และเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมานั้น เป็นการครอบครองแทนโจทก์
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับเงิน 8,000 บาทจากโจทก์ แล้ว ส่งมอบที่นาแปลงพิพาทคืนให้แก่โจทก์ ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นตามที่โจทก์จำเลยนำสืบไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า ที่นาแปลงพิพาทตั้งอยู่ที่บ้านสามแว่งต่อเขตบ้านถนน ตำบลสามแวง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เดิมเป็นของโจทก์ ที่นาแปลงนี้มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งทางราชการออกให้โจทก์เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2500 ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1ในปี พ.ศ. 2510 ที่นาแปลงพิพาทตกอยู่ในความครอบครองของจำเลยโดยโจทก์อ้างว่าโจทก์กู้เงินจำเลย 8,000 บาท แล้วมอบที่นาแปลงพิพาทให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ย แต่จำเลยอ้างว่าจำเลยซื้อมาจากโจทก์ในราคา 8,000 บาท ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์ได้กู้เงินจำเลยแล้วมอบที่นาแปลงพิพาทให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยจริงหรือไม่ แม้โจทก์มีตัวโจทก์ผู้เดียวเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ได้กู้เงินจำเลยจำนวน 8,000 บาท แล้วมอบที่นาแปลงพิพาทให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยทำสัญญากู้ที่บ้านนายเยียน ผู้ใหญ่บ้านบ้านถนน ตำบลสามแวง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ โดยนายเยียนผู้นี้น่าจะหมายถึงนายเยือน หินปราณี พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านถนน อันเป็นหมู่บ้านของจำเลยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502จนถึงปัจจุบัน นายเยียนหรือเยือนเป็นผู้เขียนสัญญากู้ซึ่งทำไว้เพียงฉบับเดียวและเป็นผู้เก็บรักษาสัญญากู้ดังกล่าว สัญญากู้ไม่มีกำหนดเวลา และโจทก์ได้มอบ น.ส.3 ของที่นาแปลงพิพาทให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกัน โจทก์ยังมีนายชื่น พารารัมย์ เจ้าของที่นาข้างเคียงกับที่นาแปลงพิพาท นายบุญช่วย บุญศิริ ผู้ใหญ่บ้านบ้านสามแวง อันเป็นหมู่บ้านของโจทก์ เป็นพยานสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ข้างต้น โดยพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเบิกความว่า ที่นาแปลงพิพาทเดิมเป็นของโจทก์และโจทก์เป็นผู้เข้าทำประโยชน์ต่อมาเห็นจำเลยเข้าทำ บุคคลทั้งสองสอบถามจำเลยได้ความว่า จำเลยรับจำนำที่นาแปลงพิพาทไว้จากโจทก์ นายชื่นพยานโจทก์ว่าการจำนำที่นาหมายถึงการกู้เงินแล้วมอบที่นาให้ผู้ให้กู้ทำกินต่างดอกเบี้ย เมื่อผู้กู้นำเงินไปชำระ ผู้ให้กู้ต้องคืนที่นาให้แก่ผู้กู้ และจำเลยบอกแก่นายบุญช่วยพยานโจทก์ว่า โจทก์นำจำที่นาแปลงพิพาทไว้ในราคา 8,000 บาท ไม่มีกำหนดไถ่จำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งในเรื่องนี้เป็นอย่างอื่น กรณีต้องฟังว่าจำเลยได้กล่าวถ้อยคำเช่นว่านั้นแก่นายชื่นและนายบุญช่วยพยานโจทก์จริงดังที่บุคคลทั้งสองกล่าวอ้าง คำกล่าวของจำเลยเป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของตนเอง แม้เป็นพยานบอกเล่าก็รับฟังใช้ยันจำเลยได้ ประกอบกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่นาแปลงพิพาทของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งนายอำเภอเมืองบุรีรัมย์จัดส่งมาตามคำสั่งเรียกของศาลเป็น น.ส. 3 ฉบับ พนักงานเจ้าหน้าที่ มิใช่ฉบับของเจ้าของที่ดิน การที่ น.ส.3 ของที่นาแปลงพิพาทฉบับของเจ้าของที่ดินมิได้อยู่ที่โจทก์เป็นพฤติการณ์แวดล้อมแสดงให้เห็นว่า โจทก์คงจะได้เอามอบให้จำเลยยึดถือไว้เป็นประกันดังข้ออ้างของโจทก์ พยานจำเลยที่รู้เห็นเกี่ยวกับการที่จำเลยซื้อที่นาแปลงพิพาทจากโจทก์ มีจำเลยกับนางบุญ สมบูรณ์ ภรรยาของจำเลย และนายเยือน หินปราณี ผู้ใหญ่บ้านบ้านถนน ส่วนพยานจำเลยนอกจากนั้นมิได้รู้เห็นในเรื่องนี้แต่อย่างใด ปรากฏว่าจำเลยและนายเยือนพยานจำเลยเบิกความแตกต่างขัดแย้งกันในข้อสำคัญ โดยจำเลยเบิกความว่า จำเลยซื้อที่นาแปลงพิพาทจากโจทก์เมื่อปี พ.ศ. 2510 ในราคา 8,000บาท หลังจากตกลงซื้อขายกันแล้ว โจทก์กับภรรยาได้มาขอรับเงินค่าที่ดินที่บ้านของจำเลยจำเลยชำระเงิน 8,000 บาทให้โจทก์แล้ว นายเยือนผู้ใหญ่บ้านบ้านถนน จึงมาที่บ้านจำเลยและได้ทราบเรื่องการซื้อขายที่นาแปลงพิพาทแต่นายเยือนพยานจำเลยเบิกความว่า เมื่อเดือน 3 ปี พ.ศ. 2511 นายเยือนไปเก็บภาษีบำรุงท้องที่จากราษฎรในหมู่บ้านแล้วไปที่บ้านจำเลย นายเยือนพบโจทก์กับภรรยาอยู่ที่บ้านจำเลยโดยโจทก์บอกขายที่นาแปลงพิพาทให้แก่จำเลยและตกลงราคากันได้ในราคา 8,000 บาท ตอนแรกจำเลยจะขอชำระเงินค่าที่ดินให้โจทก์ที่บ้านของนายเยือน แต่นายเยือนว่ามารู้เห็นแล้วชำระที่บ้านของจำเลยก็ได้ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่านายเยือนมารู้เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่แรก มิใช่มารู้เห็นหลังจากที่จำเลยได้ชำระเงินค่าที่ดินให้แก่โจทก์แล้วแต่อย่างใด การที่จำเลยขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่นาแปลงพิพาทให้ในปี พ.ศ. 2520 ดังปรากฏตาม น.ส.3 เอกสารหมาย ล.1 นั้นจำเลยได้อ้างต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ที่นาแปลงพิพาทเป็นที่นาที่จำเลยจับจองไว้เองและเป็นที่นาตกสำรวจอันเป็นการปกปิดความจริงและแสดงพิรุธอยู่ในตัว และปรากฏว่าสำนักงานที่ดินอำเภอเมืองบุรีรัมย์ และนายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ค้นหาเรื่องราวการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่นาแปลงพิพาทของจำเลยไม่พอ คงพบแต่เรื่องราวการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่นาแปลงพิพาทของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.10 ดังปรากฏตามหนังสือของสำนักงานที่ดิน อำเภอเมืองบุรีรัมย์และนายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2522 และ 14 กุมภาพันธ์ 2523 ตามลำดับ (รวมอยู่ในสำนวนตามสารบาญอันดับที่ 28 และ 33) ประกอบกับนายละอองจรัลรัมย์ พยานจำเลย ซึ่งเป็นกำนันตำบลสามแวง อำเภอเมืองบุรีรัมย์เบิกความว่า โจทก์ไม่ทราบ ถึงการที่จำเลยนำที่นาแปลงพิพาทไปขอออกน.ส.3 ด้วยเหตุนี้การที่โจทก์ มิได้คัดค้านการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่นาแปลงพิพาทของจำเลย จึงไม่เป็นเหตุที่จะถือเป็นพิรุธดังข้อตำหนิของศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีเหตุผลและมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงเป็นอันฟังได้ว่าโจทก์ได้กู้เงินจำเลย 8,000 บาท แล้วมอบที่นาแปลงพิพาทให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ย โจทก์หาได้ขายที่นาแปลงนี้ให้แก่จำเลยแต่อย่างใดไม่การที่จำเลยครอบครองทำกินในที่นาแปลงพิพาทและเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา เป็นเพียงการครอบครองแทนโจทก์ จำเลยได้แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 โดยอ้างต่อโจทก์ว่า จำเลยได้ซื้อที่นาแปลงพิพาทมาจากโจทก์ ยังไม่ถึงหนึ่งปี โจทก์ก็ฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยจึงยังไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินแปลงพิพาท โดยสิทธิครอบครองที่ดินแปลงพิพาทยังคงเป็นของโจทก์อยู่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 1,500 บาท”