แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าพนักงานผู้ตรวจภาษี ตรวจพบภายหลังจำเลยผู้ล้มละลายได้ยื่นรายการเสียภาษีต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องเสีย จึงมีหนังสือแจ้งจำนวนเงินที่จะต้องชำระอีกไปยังจำเลยผู้ต้องเสียภาษีเพิ่มเติม โดยอาศัยประมวลรัษฎากร มาตรา 19,20 และ 22 ดังนี้มูลหนี้ย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยยื่นรายงานแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วนนั้น เพราะเจ้าพนักงานย่อมมีสิทธิจะเรียกให้จำเลยชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้นได้ตามกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่บัดนั้น เจ้าพนักงานซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ได้ตามนัยแห่งมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130(6) ที่ว่า”ค่าภาษีอากรฯลฯที่ถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือน ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์” นั้น ไม่หมายความว่าหนี้นั้นจะต้องถึงกำหนดชำระก่อนที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นแต่หมายความว่า ถ้าหนี้นั้นถึงกำหนดชำระก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ก็ต้องถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือน ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งดังกล่าว จึงจะเป็นหนี้ที่อยู่ในลำดับแห่งมาตรา 130(6) แต่ถ้าเป็นหนี้ค่าภาษีอากรที่ถึงกำหนดชำระภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เช่นในคดีนี้ ที่กำหนดให้ชำระหนี้ภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับหนังสือและวันได้รับแจ้งการประเมินตามลำดับ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยนั้น ไม่มีกฎหมายจำกัดไว้ จึงเป็นหนี้ที่อยู่ในลำดับแห่งมาตรา130(6) ด้วย เพราะในคดีล้มละลายนั้น การขอรับชำระหนี้ย่อมขอรับได้รวมทั้งหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระเมื่อลูกหนี้ตกเป็นคนล้มละลาย เจ้าหนี้อื่นใดจะฟ้องก็ไม่ได้ได้แต่ขอรับชำระหนี้ ถ้าไม่ยอมให้เจ้าหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดได้รับชำระหนี้ร้องขอชำระหนี้ เจ้าหนี้นั้นก็อาจไม่ได้รับชำระหนี้เลย เพราะพ้นเวลาขอรับชำระหนี้เสียแล้ว ฉะนั้นเจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้จึงมีสิทธิขอรับชำระหนี้รายการอันดับ 8-9 ตามมาตรา 130(6)แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483
ย่อยาว
คดีนี้ ศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาลว่าผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครเจ้าหนี้ ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีรวมเป็นเงิน 193,121.50 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1, 2 และ 4 ในฐานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนทำความเห็นเสนอศาลว่าภาษีในรายการอันดับ 1-7 น่าเชื่อว่าแบบยื่นรายการเสียภาษีที่เจ้าหนี้จ่ายส่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นเอกสารที่ลูกหนี้ยื่นไว้ต่อเจ้าหนี้จริง ฯลฯ สำหรับค่าภาษีในรายการอันดับ 8-9 ถือไม่ได้ว่าเจ้าหนี้ได้แจ้งการประเมินให้ลูกหนี้ทราบแล้ว ลูกหนี้ย่อมไม่ต้องรับผิดเพราะหนี้ค่าภาษียังไม่เกิดขึ้น ฯลฯ ศาลแพ่งมีคำสั่งอนุญาตให้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครอุทธรณ์ว่า มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 130(6) ขอให้สั่งให้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าภาษีอากรในรายการอันดับที่ 8-9 ฯลฯ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำสั่งศาลชั้นต้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครรับชำระหนี้รายการอันดับที่ 8-9
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ข้อเท็จจริงได้ความว่า หนี้รายการอันดับที่ 8-9 กรมสรรพากรตรวจพบว่าจำเลยไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้ครบถ้วนบริบูรณ์เจ้าพนักงานจึงอาศัยมาตรา 20, 22 แห่งประมวลรัษฎากร สั่งให้จำเลยนำเงินค่าภาษีไปชำระภายใน 30 วัน โดยหนังสือที่ กค.0804/336 และกค.0804/145ซึ่งทั้ง 2 ฉบับ ลงวันที่ 23 กันยายน 2507 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว
ศาลฎีกาเห็นว่า ในกรณีที่ผู้ต้องเสียภาษีแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้อง กรณีต้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19, 20 และ 22ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานทำการไต่สวนและประเมินค่าภาษีใหม่ได้โดยอาศัยหลักฐานที่ปรากฏสำหรับค่าภาษีรายพิพาท เจ้าพนักงานผู้ตรวจภาษีอากรเพิ่งตรวจพบในภายหลังจำเลยผู้ล้มละลายได้ยื่นรายการเสียภาษีต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องเสีย จึงมีหนังสือแจ้งจำนวนเงินที่จะต้องชำระอีกไปยังจำเลยผู้ต้องเสียภาษีเพิ่มเติมโดยอาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า มูลหนี้ย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยยื่นรายงานแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วนนั้น เพราะเจ้าพนักงานย่อมมีสิทธิจะเรียกให้จำเลยชำระภาษีที่เพิ่มขึ้นนั้นได้ตามกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่บัดนั้นแล้วจึงมีหนังสือแจ้งจำนวนเงินที่จะต้องชำระเพิ่มเติม คือ หนังสือที่ กค.0804/336 และที่ กค.0804/145 ซึ่งลงวันที่ 23 กันยายน 2507 ไปยังจำเลย เจ้าหนี้รายนี้จึงขอรับชำระหนี้ได้ตามนัยมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
ที่มาตรา 130(6) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันบัญญัติว่า “ค่าภาษีอากร ฯลฯ ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือน ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์” นั้น หาได้หมายความว่าหนี้นั้นจะต้องถึงกำหนดชำระก่อนที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นไม่แต่หมายความว่าถ้าหนี้นั้นถึงกำหนดชำระก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วก็ต้องถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือน ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งดังกล่าวจึงจะเป็นหนี้ที่อยู่ในลำดับแห่งมาตรา 130(6) แต่ถ้าเป็นหนี้ค่าภาษีอากรที่ถึงกำหนดชำระภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เช่นคดีนี้ที่ปรากฏในหนังสือที่ กค.0804/336 และที่ กค.0804/145 ลงวันที่ 23 กันยายน 2507 กำหนดให้ชำระหนี้ภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับหนังสือและวันได้รับแจ้งการประเมินตามลำดับ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยนั้น ไม่มีกฎหมายจำกัดไว้ จึงย่อมเป็นหนี้ที่อยู่ในลำดับแห่งมาตรา 130(6) ด้วยเพราะในคดีล้มละลายนั้น การขอรับชำระหนี้ย่อมขอรับได้รวมทั้งหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ เมื่อลูกหนี้ตกเป็นคนล้มละลาย เจ้าหนี้อื่นใดจะฟ้องก็ไม่ได้ ได้แต่ขอรับชำระหนี้ ถ้าไม่ยอมให้เจ้าหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดได้รับชำระหนี้ร้องชำระหนี้ เจ้าหนี้นั้นก็อาจไม่ได้รับชำระหนี้เลย เพราะพ้นเวลาขอรับชำระหนี้เสียแล้วฉะนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นว่าเจ้าหนี้รายผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้รายการอันดับ 8-9 ตามมาตรา 130(6) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
พิพากษายืน