แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
นอกจากโจทก์ร้องเรียนในกรณีที่โจทก์ไม่ได้รับยศร้อยตำรวจเอกแล้ว ยังกล่าวหาผู้บังคับบัญชาชั้นสูงและจำเลยในฐานะอธิบดีกรมตำรวจว่าเป็นผู้ไม่อยู่ในศีลธรรมอันดีทำลายภาพพจน์ของกรมตำรวจให้เสื่อมทรามลงโจรผู้ร้ายชุกชุมก็ไม่มีความสามารถปราบปรามบกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง หย่อนสมรรถภาพในการปฏิบัติงานซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของโจทก์แต่อย่างใดกรณีเช่นนี้จึงมีเหตุที่จะให้จำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา เห็นว่าโจทก์ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจึงชอบที่จำเลยแต่งตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์และไม่มีกฎหมายใดห้ามผู้บังคับบัญชาที่เป็นคู่กรณีตั้งผู้ใต้บังคับบัญชาสอบสวนคู่กรณีแต่อย่างใด
ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงรวมทั้งค่าทนายความตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้แก่จำเลยได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา161 แม้พนักงานอัยการจะเป็นทนายแก้ต่างให้จำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 9 เดือน กรกฎาคมพุทธศักราช 2523
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นข้าราชการตำรวจ มียศร้อยตรำวจตรี อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยซึ่งมียศเป็นพลตำรวจเอก ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจจำเลยมีหน้าที่ในการออกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนให้ชอบด้วยข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทย ที่ 4/2499 ลงวันที่ 13ตุลาคม 2499 ว่าด้วยการตั้งกรรมการและสอบสวนเมื่อกระทำผิดวินัยตำรวจ ห้ามไม่ให้ตั้งผู้ที่มีกรณีเกี่ยวข้องหรือเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของคู่กรณีเป็นกรรมการ และให้เป็นไปโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการกรมตำรวจพ.ศ. 2521 พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พ.ศ. 2477 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2521 จำเลยได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อได้ออกคำสั่งที่ 1110/2521 ในฐานะอธิบดีกรมตำรวจแต่งตั้งกรรมการสอบสวนกล่าวหาโจทก์ประพฤติตนไม่เหมาะสมแก่ตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ในกรณีที่โจทก์มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจากพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพลเรือเอกสงัด ชอลอยู่ ประธานสภานโยบายแห่งชาติ และจากพลเรือเอกเสริม ณ นคร ผู้อำนวยการรักษาพระนครและผู้บัญชาการทหารบก เพราะโจทก์มีสิทธิที่จะร้องขอความเป็นธรรมต่อผู้บังคับบัญชาเหนือตนได้ ไม่ถึงกับเป็นผู้ไม่เหมาะสมต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จำเลยจะตั้งกรรมการสอบสวนลงโทษโจทก์ตามมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2518 และจำเลยก็ทราบดีอยู่แล้ว ทั้งยังเป็นการไม่ชอบด้วยข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทย ที่ 4/2499 ที่ห้ามตั้งผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของคู่กรณีเป็นกรรมการสอบสวน โดยจำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งพันตำรวจเอกสุรินทร์ ไวคกุล พันตำรวจเอกสกนธ์ คังคะเกตุ และพันตำรวจเอกวินัย ประเทืองบูรณ์ ผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยเป็นกรรมการสอบสวนโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องเสียหายถูกคณะกรรมการทำการสอบสวน ทำให้โจทก์ไม่ได้รับการพิจารณาความดีความชอบ เสียประวัติ ชื่อเสียง และตัดความเจริญในการทำมาหาได้หรือสิทธิที่โจทก์พึงมีในการประกอบอาชีพทางรับราชการ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายจนถึงอายุ 60 ปี เป็นเงิน 200,000 บาท ขอพิพากษาให้สั่งระงับการสอบสวนของคณะกรรมการจนกว่าศาลจะพิพากษา ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ตั้งกรรมการสอบสวนและให้ประกาศทางหนังสือพิมพ์ ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 200,000 บาท กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยในฐานะอธิบดีกรมตำรวจได้ออกคำสั่งที่ 1110/2521 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2521 ตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์จริง อันเป็นการปฏิบัติราชการของจำเลยโดยทุจริต มิใช่เป็นการส่วนตัวมูลเหตุมาจากโจทก์ทำหนังสือร้องทุกข์เรื่องถูกรีดไถจากพันตำรวจตรีวราฤทธิ์กับพวก เสนอต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้อื่นอีก จำเลยเห็นว่าโจทก์ดำเนินการร้องทุกข์ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบของกฎหมาย กฎ ก.พ. ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2518) และพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พ.ศ. 2477 มาตรา 21 วรรคท้าย และหนังสือนั้นยังกล่าวโทษจำเลยในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยไม่ยำเกรง แสดงการดูหมิ่นเหยียดหยามหาว่าจำเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นผู้ไม่อยู่ในศีลธรรมอันดี ทำลายภาพพจน์ของกรมตำรวจ ไม่สามารถปราบโจรผู้ร้าย บกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง อันปราศจากความจริง ก่อให้เกิดแตกสามัคคีในหมู่ข้าราชการ ไม่เคารพระเบียบแบบแผนของกรมตำรวจ และไม่ปฎิบัติตามระเบียบและกฎหมาย จำเลยถือว่าโจทก์กระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงจำเลยมีอำนาจตามกฎหมายที่จะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยจำเลยจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ โดยไม่มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทย ที่ 4/2499 ถูกยกเลิกไปแล้วโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 นอกจากนี้การกระทำของจำเลยเป็นการใช้ดุลพินิจและอำนาจของฝ่ายบริหารสั่งตั้งคณะกรรมการในขอบเขตของกฎหมาย จึงไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิในทางศาลโจทก์ไม่ได้เสียหาย หากเสียหายไม่เกิน 5,000 บาทฟ้องโจทก์ เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าธรรมเนียมแทนจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมจำเลยเพียงสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์เพื่อทราบว่าโจทก์ผิดวินัยหรือไม่ ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่เสียหาย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้ระงับหรือเพิกถอนคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์1,000 บาทแทนจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า โจทก์สำเร็จเป็นนิติศาสตร์บัณฑิตเมื่อ พ.ศ. 2516 และเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2518 โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพลตำรวจสำรองพิเศษ กองบังคับตำรวจสันติบาล ในปีเดียวกันนี้โจทก์ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาให้ศึกษาปริญญาโทภาคค่ำ ที่คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสำเร็จปริญญาโททางรัฐศาสตร์ในพ.ศ. 2519 ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2519 ถึง กันยายน 2519 โจทก์เข้ารับการอบรมที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน เพื่อจะบรรจุเป็นนายตำรวจสัญญาบัตร หลังจากเสร็จการอบรมแล้ว ทางกองบังคับการตำรวจสันติบาลเสนอแต่งตั้งให้โจทก์เป็นร้อยตำรวจตรี ประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล และเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2520 ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเสนอไปยังจำเลยซึ่งเป็นอธิบดีกรมตำรวจ ขอบรรจุโจทก์เป็นร้อยตำรวจเอกเนื่องจากโจทก์สำเร็จปริญญาโท ตามระเบียบที่กรมตำรวจใช้อยู่ แต่จำเลยอ้างว่าโจทก์ปิดบังวุฒิปริญญาโท ให้ระงับการบรรจุไว้1 ปี เมื่อครบแล้วให้บรรจุเป็นร้อยตำรวจโทขั้นต่ำ โจทก์จึงร้องเรียนต่อพลตำรวจตรีสม จารักษ์ หัวหน้ากองคดี กรมตำรวจ พลตำรวจตรีสมแต่งตั้งให้พลตำรวจตรีชัยยง ปฎิพิมพาคม เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการมีความเห็นว่า โจทก์มิได้ปิดบังวุฒิปริญญาโท ต่อมาจำเลยแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นอีก 1 ชุดมีพลตำรวจโทจิตต์ ลีลายุทธ เป็นประธานกรรมการ และก็มีความเห็นอย่างเดียวกับชุดแรก จำเลยจึงส่งเรื่องให้กองวิชาการ กรมตำรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง กองวิชาการก็มีความเห็นเช่นเดียวกัน จำเลยจึงมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นร้อยตรำวจโท พร้อมกับตั้งกรรมการสอบสวนถึงการที่โจทก์ร้องเรียนผู้บังคับบัญชา ทำให้โจทก์ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นร้อยตำรวจโท โจทก์จึงได้ร้องทุกข์ไปยังนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและประธานสภานโยบายแห่งชาติ ที่โจทก์ถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาเพื่อขอความเป็นธรรม ผู้รับหนังสือร้องทุกข์บางท่านส่งเรื่องไปยังจำเลยจำเลยจึงมีคำสั่งที่ 1110/2521 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2521 ตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์หาว่าโจทก์ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โดยแต่งตั้งพันตำรวจเอกสุรินทร์ ไวคกุล พันตำรวจเอกสกนธ์ คังคะเกตุและพันตำรวจเอกวินัย ประเทืองบูรณ์ เป็นกรรมการสอบสวนโจทก์จำเลยเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์และกรรมการสอบสวนทั้งสามนายดังกล่าว การตั้งกรรมการดังกล่าวจึงขัดต่อข้อบังคับที่ 4/2499 ของกระทรวงมหาดไทย ที่ห้ามมิให้ตั้งผู้ใต้บังคับบัญชาของคู่กรณีเป็นกรรมการเพราะจำเลยเป็นคู่กรณีกับโจทก์ ในที่สุดปลาย พ.ศ. 2521 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการ ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงขาดรายได้ซึ่งจะได้รับจากการรับราชการ โจทก์ขอเรียกรวมเป็นเงิน200,000 บาท
จำเลยนำสืบว่า โจทก์เคยขอให้กรมตำรวจปรับยศตามวุฒิปริญญาโทเป็นร้อยตำรวจเอก ทางกองกำลังพลกรมตำรวจพิจารณาแล้วเห็นควรแต่งตั้งเป็นร้อยตำรวจโท โจทก์ไม่พอใจ จึงมีหนังสือร้องเรียนต่อพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรี พลเอกเสริม ณ นคร ผู้อำนวยการรักษาพระนคร และผู้บังคับบัญชาการทหารบก ตามเอกสารหมาย ล.1,ล.2 โดยกล่าวหาผู้บังคับบัญชา จำเลยในฐานะอธิบดีกรมตำรวจจึงสั่งให้พันตำรวจเอกเสนาะ โตดาบ รองหัวหน้ากองคดีกรมตำรวจ พิจารณาเบื้องต้นพันตำรวจเอกเสนาะพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน เพราะข้อร้องเรียนไม่เป็นความจริง จึงรายงานให้จำเลยทราบตามเอกสารหมาย ล.3ต่อมาจำเลยมีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ ระหว่างสอบสวนโจทก์ก็มาฟ้องคดีนี้ สำหรับการตั้งกรรมการสอบสวนนั้น ถ้าเป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรงต้องตั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งไม่มีข้อห้ามตั้งผู้ใต้บังคับบัญชาคู่กรณีเป็นกรรมการอย่างข้อบังคับที่โจทก์อ้าง
พิเคราะห์แล้ว ปัญหามีว่าการที่จำเลยในฐานะอธิบดีกรมตำรวจมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ตามคำสั่งกรมตำรวจที่ 1110/2521ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2521 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อที่โจทก์นำสืบอ้างว่าการที่จำเลยแต่งตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ดังกล่าวขัดต่อข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทยที่ 4/2499 ที่ห้ามแต่งตั้งผู้ใต้บังคับบัญชาของคู่กรณีเป็นกรรมการสอบสวน เห็นว่า ข้อบังคับดังกล่าวไม่ปรากฏว่าออกโดยอาศัยอำนาจกฎหมายใด และจะใช้กับกรณีที่มีการกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงได้หรือไม่ ส่วนฝ่ายจำเลยมีพันตำรวจเอกเสนาะ โตดาบรองหัวหน้ากองคดี กรมตำรวจ เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อโจทก์ร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้อื่น จำเลยได้สั่งให้พวกสอบสวนเบื้องต้นว่าควรตั้งกรรมการสอบสวนหรือไม่ จากการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของโจทก์เหล่านั้น มีข้อความกล่าวหาผู้บังคับบัญชาหลายคนที่จำเลยด้วยว่าละเว้นปฎิบัติหน้าที่ ไม่ให้ความเป็นธรรม ตามเอกสารหมาย ล.1,2 และ 4 และเสนอให้จำเลยทราบเพื่อตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ ศาลได้ตรวจดูเอกสารดังกล่าวแล้วนอกจากโจทก์ร้องเรียนในกรณีที่โจทก์ไม่ได้รับยศร้อยตำรวจเอกแล้วโจทก์ยังกล่าวหาผู้บังคับบัญชาชั้นสูงและจำเลยว่าเป็นผู้ไม่อยู่ในศีลธรรมอันดีทำลายภาพพจน์ของกรมตำรวจให้เสื่อมทรามลง โจรผู้ร้ายชุกชุมก็ไม่มีความสามารถปราบปราม บกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง หย่อนสมรรถภาพในการปฏิบัติตนซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของโจทก์แต่อย่างใด กรณีเช่นนี้จึงมีเหตุที่จะให้จำเลยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเห็นว่าโจทก์ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจึงชอบที่จำเลยแต่งตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 มาตรา 86 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 มาตรา 61 ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อความที่ห้ามผู้บังคับบัญชาที่เป็นคู่กรณีตั้งผู้ใต้บังคับบัญชาสอบสวนคู่กรณีแต่อย่างใด แม้แต่พลตำรวจตรีสม จารักษ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองคดี กรมตำรวจ และพันตรำวจเอกสกล กาญจนศูนย์หัวหน้ากองคดี กรมตำรวจ พยานโจทก์เองก็เบิกความรับว่าการตั้งกรรมการสอบสวนในกรณีที่มีการกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงต้องตั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ดังนั้นการที่จำเลยแต่งตั้งกรรมการสอบสวนโจทก์ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาเรื่องที่ศาลกำหนดค่าทนายความให้พนักงานอัยการที่เป็นทนายแก้ต่างจำเลยนั้น เห็นว่า ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงรวมค่าทนายความตามตาราง 6ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้แก่จำเลยได้ ตามมาตรา 161แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาทแทนจำเลย