แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ร. ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงพิพาทกับแปลงอื่นอีก 2 แปลงให้ ส. อ. และ ล. แต่ให้ตกเป็นของผู้รับต่อเมื่อ ล. มีอายุครบ 20 ปีคนใดจะได้แปลงไหนให้จับสลากเอาเมื่อ ร. ตายแล้ว มีบุคคลผู้หนึ่งได้เป็นผู้จัดการมรดก แต่ต่อมาขอออกไป ระหว่างที่ยังไม่มีผู้จัดการมรดกคนใหม่ บ. ซึ่งเป็นมารดาของ ส. อ. ล. ได้ให้จำเลยเช่าตึกแถวในที่ดินแปลงพิพาท ซึ่งตึกนี้มีคนสร้างและยกกรรมสิทธิ์ให้แก่ บ. ดังนี้ ตึกแถวย่อมตกติดเป็นของเจ้าของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1310 แม้ตามพินัยกรรมจะยังไม่ให้สิทธิในที่ดินแปลงใดตกทอดไปยัง ส. อ. และ ล. ในทันที ตึกแถวนั้นก็คงต้องตกไปเป็นของคนใดคนหนึ่งในสามคนนี้ แต่ก็ไม่ใช่เป็นของ บ. แม้จำเลยจะหลงเชื่อโดยสุจริตว่า บ. เป็นเจ้าของก็ไม่ทำให้จำเลยเกิดสิทธิในการเช่าอันจะใช้ยันเจ้าของที่ดินและตึกอันแท้จริงได้ เพราะ บ. ผู้ให้เช่าไม่ใช่เจ้าของตึกหรือมีสิทธิให้เช่าได้ โจทก์ซึ่งรู้เรื่องอยู่แล้ว รับโอนกรรมสิทธิ์ไปจากเจ้าของแล้วใช้อำนาจกรรมสิทธิ์ปฏิเสธไม่รับรู้การเช่าของจำเลยและฟ้องขับไล่ ดังนี้ จะถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ เพราะย่อมถือได้ว่าโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์มา โดยเห็นว่าการเช่าของจำเลยไม่มีผลผูกพันเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง ไม่ใช่ว่าทำไปทั้งที่รู้อยู่ว่าตนไม่มีสิทธิที่จะทำได้
เมื่อ ล. มีอายุครบ 20 ปีแล้ว ศาลตั้งให้ ส. อ. และ ล.เป็นผู้จัดการมรดกของ ร. ส. อ. และ ล. จึงเป็นทั้งผู้จัดการมรดกและทายาทตามพินัยกรรมที่จะรับมรดกที่ดินกับตึกแถวรายนี้ การที่ ส. อ.และ ล. ขายที่ดินพิพาทกับตึกแถวให้แก่โจทก์ไปในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก จึงเป็นการขายตามความประสงค์ของเจ้าของกรรมสิทธิ์จำเลยไม่อาจอ้างได้ว่าผู้จัดการมรดกไม่มีอำนาจขาย
ย่อยาว
ทั้ง 3 สำนวน โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 1603 พร้อมด้วยตึกแถว 5 ห้อง โดยซื้อมาจากนายสมเลิศ สนใจ กับพวก ผู้จัดการทรัพย์มรดกของนางหรุ่น รักสัจจะ จำเลย 3 สำนวนนี้เป็นผู้ครอบครองตึกแถวดังกล่าวคนละห้องเพื่อประกอบการค้าโดยไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับกองมรดกของนางหรุ่น เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินและตึกมาแล้วได้แจ้งให้จำเลยออกไป จำเลยไม่ยอมออกทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากห้องของโจทก์และใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การมีใจความตรงกันว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนางหรุ่น นายสมเลิศกับพวกไม่มีอำนาจที่จะขายทรัพย์มรดกของนางหรุ่น หากโจทก์จะได้ซื้อมานิติกรรมนั้นก็ไม่มีผล ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นของนายบุญหลง รักสัจจะ ซึ่งเป็นมารดาของนายสมเลิศนายอรุณและนางสาวลัดดาวัลย์ สนใจ โดยนางบุญหลงได้แสดงออกว่าเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทำนิติกรรมให้ปลูกสร้างและให้เช่าโดยผู้จัดการมรดกของนางหรุ่นหรือบุตรทั้งสามของตนเองมิได้โต้แย้ง แต่กลับร่วมรู้เห็นด้วยในการทำนิติกรรมนั้น การโอนขายที่ดินและตึกจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยเช่าตึกจากนางบุญหลงโดยไม่สุจริต จำเลยเช่าตึกจากนางบุญหลงโดยได้จดทะเบียนการเช่าและได้เสียเงินค่าตอบแทนรายละ 10,000 บาท บุตรของนางบุญหลงที่โจทก์ว่าเป็นผู้จัดการมรดกของนางหรุ่นก็รู้เห็นร่วมรับเงิน มิได้คัดค้าน ค่าเสียหายสูงกว่าความจริง จำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่าฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวาร และให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะในข้อที่คัดค้านเรื่องอำนาจฟ้อง ว่าผู้จัดการมรดกโอนขายที่พิพาทให้โจทก์โดยไม่ชอบ ไม่ทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง อ้างว่าอุทธรณ์ส่วนที่ไม่รับก็เป็นข้อกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์สั่งคำร้องนี้โดยกล่าวรวมมาในคำพิพากษาว่า ที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์นั้นชอบแล้ว เมื่อวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อที่รับไว้แล้วพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นฟังว่า ที่ดินโฉนดที่ 1603 นี้เดิมเป็นของนางหรุ่น รักสัจจะ นางหรุ่นทำพินัยกรรมยกที่แปลงนี้กับที่ดินอื่นอีก 2 แปลงให้นายสมเลิศ นายอรุณและนางสาวลัดดาวัลย์โดยมีเงื่อนไขว่าให้ที่ดินตกเป็นของผู้รับต่อเมื่อนางสาวลัดดาวัลย์มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ โดยให้ได้กันคนละแปลง คนไหนจะได้แปลงไหนให้ใช้วิธีจับสลาก เมื่อนางหรุ่นตายแล้ว นางส้มลิ้มได้เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาศาลอนุญาตให้นางส้มลิ้มออกจากผู้จัดการมรดก แล้วศาลตั้งให้นายสมเลิศ นายอรุณและนางสาวลัดดาวัลย์ซึ่งมีอายุ 20 ปีแล้วเป็นผู้จัดการมรดกตามคำร้องขอเมื่อได้รับแต่งตั้งแล้วคนทั้งสามได้โอนเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ 1603 จากชื่อนางส้มลิ้มผู้จัดการมรดกมาเป็นชื่อคนทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วคนทั้งสามโอนขายที่ดินโฉนดที่ 1603 พร้อมด้วยตึกแถวในที่ดินให้โจทก์ ระหว่างที่นางส้มลิ้มพ้นจากการเป็นผู้จัดการมรดกและยังไม่มีการตั้งคนใหม่นั้น นางบุญหลงมารดาของนายสมเลิศนายอรุณและนางสาวลัดดาวัลย์ได้ให้จำเลยเช่าห้องรายที่ฟ้อง ต่อมานางบุญหลงถูกจำเลยทั้งสามนี้ฟ้องให้ไปจดทะเบียนการเช่านางบุญหลงได้ไปจดทะเบียนให้
จำเลยฎีกาว่า สัญญาที่จำเลยเช่านั้นผูกมัดที่ดินและห้องเช่าเพราะตึกที่เช่านั้นไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนางหรุ่นผู้ตาย แต่มีคนสร้างลงในที่ดินรายนี้และยกกรรมสิทธิ์ในตึกให้แก่นางบุญหลงการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ทำให้ได้เป็นเจ้าของสิ่งที่ปลูกสร้างนั้นด้วย แม้แต่โจทก์เองเดิมก็ยังเชื่อว่านางบุญหลงเป็นเจ้าของที่ดินและตึกพิพาท ที่โจทก์ทำเป็นรับซื้อจากผู้จัดการมรดก จึงทำไปโดยไม่สุจริต ที่โจทก์ไม่รับรู้สัญญาเช่าที่จำเลยทำกับนางบุญหลงทั้ง ๆ ที่โจทก์รู้มาก่อนซื้อ ซื้อแล้วก็มาฟ้องคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้จัดการมรดกของนางหรุ่นโอนขายให้โจทก์ไม่ได้ เพราะผู้จัดการมรดกไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อคัดค้านดังกล่าวของจำเลยฟังไม่ขึ้นเพราะตึกที่มีคนสร้างขึ้นหลังจากนางหรุ่นเจ้าของที่ดินตายแล้วนั้น ก็คงตกติดเป็นของเจ้าของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310 แม้จะปรากฏว่าในระหว่างนั้นโดยผลแห่งพินัยกรรมยังไม่ให้สิทธิในที่ดินแปลงใดตกทอดไปยังทายาทผู้รับพินัยกรรมคนหนึ่งคนใดในสามคนนั้นในทันที แต่ตึกนั้นก็คงต้องตกไปเป็นของผู้รับพินัยกรรมคนหนึ่งคนใดในสามคนนั้น แต่ก็ไม่ใช่ตัวนางบุญหลง หากจะมีทะเบียนปรากฏอยู่ในที่ใดว่าตึกนั้นเป็นของนางบุญหลง ก็เป็นการปรากฏที่ผิดไปจากความถูกต้องที่รับรองโดยกฎหมาย ไม่ทำให้นางบุญหลงเกิดมีสิทธิ์เป็นเจ้าของขึ้นได้จริง ๆ และแม้จะเป็นเหตุให้จำเลยหลงเชื่อจึงเข้าเช่าจากนางบุญหลงผลแห่งการหลงเชื่อโดยสุจริตของจำเลย ก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิในการเช่าอันจะใช้ยันเจ้าของที่ดินและตึกอันแท้จริงได้ เพราะผู้ให้เช่าไม่ใช่เจ้าของตึกหรือมีสิทธิให้เช่า
ข้ออ้างที่ว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เป็นการอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 มาใช้ แต่พฤติการณ์ดังที่จำเลยว่ามา หากจะฟังว่าเป็นจริง กรณียังไม่เข้าบทบัญญัติมาตรา 5 เพราะโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์มาโดยเห็นว่า การเช่าของจำเลยไม่มีผลผูกพันเจ้าของกรรมสิทธิที่แท้จริง จึงใช้อำนาจกรรมสิทธิ์ที่ได้มาบอกเลิกล้างการเข้าเกี่ยวข้องโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมายของจำเลยได้ ไม่ใช่ว่าโจทก์ทำไปทั้งที่รู้อยู่ว่าตนไม่มีสิทธิที่จะทำดังนั้น จำเลยจะอ้างเหตุนี้มาปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์ไม่ได้
บุคคลที่เป็นผู้จัดการมรดกรายนี้เป็นบุคคลเดียวกับผู้ที่เป็นทายาทตามพินัยกรรมโดยเฉพาะที่จะรับมรดกที่ดินกับตึกรายนี้เองที่ผู้จัดการมรดกโอนขายไป ก็เท่ากับเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ตามพินัยกรรมทำการโอนขายเองไปด้วย ที่ทำการขายไปในฐานะผู้จัดการมรดกจึงเป็นการขายตามความประสงค์ของเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ขัดต่อกฎหมายและพินัยกรรมแต่อย่างใด เมื่อการขายเป็นไปโดยถูกต้อง ผู้ซื้อคือโจทก์ก็ย่อมได้รับกรรมสิทธิ์
พิพากษายืน