แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลักกฎหมายในการที่จะฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายได้ จะต้องประกอบพร้อมทั้ง 3 ประการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา9 มิใช่เพียงข้อใดข้อหนึ่งเพียงข้อเดียวเท่านั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามข้อสันนิษฐานใน มาตรา 8 โดยโจทก์ได้ทวงถามหลายครั้ง จำเลยก็ไม่ชำระหนี้แต่จำเลยนำสืบได้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นหนี้ใครและจำเลยมีทรัพย์สมบัติมาก เช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จะฟ้องให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์รวม 30,110.75 บาท โจทก์เรียกร้องหลายครั้งจำเลยก็ไม่ชำระ และจำเลยได้ปิดร้านค้า ไม่กระทำกิจการค้าต่อไป โจทก์ถือว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย จึงขอให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยปฏิเสธและว่าฟ้องขาดอายุความเพราะหนี้เกิดจากซื้อขายต้องฟ้องภายใน 2 ปี
ศาลชั้นต้นยังไม่ถือว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว พิพากษายกฟ้องซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าหลักกฎหมายในการที่จะฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายได้ จะต้องประกอบพร้อมทั้ง 3 ประการตามที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 9 เรื่องนี้โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า ที่ร้านจำเลยไม่มีป้ายและไม่มีสินค้าอยู่ พยานโจทก์ข้อนี้มีปากเดียวและเคยไปที่ร้านจำเลยครั้งเดียวเท่านั้น นอกจากนี้จำเลยยังนำสืบได้ความว่า จำเลยไม่ได้เป็นลูกหนี้ผู้ใดเลย จำเลยได้ใช้ตึกแถวซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งร้านตังชูโตเปิดเป็นร้านดัดผมและตัดเสื้อ ใช้ชื่อใหม่ว่าร้านไตรกิจประสงค์ เครื่องดัดผมและตัดเสื้อในร้านราคาราวหนึ่งหมื่นบาท ตึก 2 ห้องที่เป็นร้านจำเลยนี้จำเลยเช่าจากวัดโสมนัสโดยเสียค่าแป๊ะเจี๊ยะให้แก่วัดห้องละ 30,000 บาท สองห้องเป็น 60,000 บาท ถ้าจะให้ผู้อื่นเช่าต่อ จำเลยจะได้เงินแป๊ะเจี๊ยะห้องละ 50,000 บาท จำเลยไม่ได้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อไม่ฟังว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวก็ไม่มีทางที่จะพิพากษาให้จำเลยเป็นผู้ล้มละลายได้ตามหลักกฎหมายดังกล่าว คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้ออื่นอีก พิพากษายืน