แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ส. ต้องการเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ แต่จำเลยที่1 ไม่มีเงินทุนเพียงพอจึงขายรถเป็นเงินสดให้แก่จำเลยที่ 2แล้วให้ ส. เช่าซื้อไปจากจำเลยที่ 2 โดยที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. เป็นร้านค้าบริการขายรถยนต์การที่จำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์พิพาทไปจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ซื้อรถยนต์พิพาทมาจากพ่อค้าขายของชนิดนั้นโดยสุจริต จำเลยที่ 2ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความในมาตรา 1332 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือไม่จำต้องคืนรถยนต์พิพาทแก่เจ้าของแท้จริง เว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้มอบทะเบียนรถยนต์ของโจทก์ให้จำเลยที่ 1 นำไปเสียภาษีรถยนต์ประจำปี แต่จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กลับร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ทำการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ 2 จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันเปลี่ยนแปลงทะเบียนกรรมสิทธิ์รถยนต์ดังกล่าวกลับเป็นชื่อของโจทก์ และชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์นำรถยนต์มาฝากจำเลยที่ 1 ขาย ต่อมาโจทก์ได้ขายให้ ส. โดยผ่านทางบริษัทจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่ได้รู้เห็นในการซื้อขายดังกล่าว
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยร่วมกับจำเลยที่ 1ปลอมลายมือชื่อโจทก์โอนทะเบียนรถพิพาท รถดังกล่าวจำเลยที่ 2 ซื้อมาจากจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นพ่อค้าขายรถยนต์ โดย ส. ลูกค้าของจำเลยที่ 1 จะเช่าซื้อรถพิพาท แต่จำเลยที่ 1 ขายแต่เงินสดจึงตกลงขายให้กับจำเลยที่ 2 แล้วให้ ส. เช่าซื้อจากจำเลยที่ 2 อีกทีหนึ่งเป็นการกระทำโดยสุจริต ต่อมา ส. ผิดสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 2 จึงติดตามเอารถคืนแต่ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองไว้โดยไม่มีสิทธิขอให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ส่งมอบรถพิพาทคืนแก่จำเลยที่ 2 และชดใช้ค่าเสียหาย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันเปลี่ยนแปลงทะเบียนรถยนต์พิพาทให้เป็นชื่อของโจทก์ และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่บังคับให้จำเลยที่ 2ชำระค่าเสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1ทำละเมิดต่อโจทก์ และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ซึ่งมีจำเลยที่ 1เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้นำรถพิพาทมาขายให้จำเลยที่ 2 และนำ ส. ลูกค้าซึ่งต้องการเช่าซื้อรถพิพาทมาด้วย จำเลยที่ 1 ไม่มีทุนเพียงพอจึงต้องขายรถเป็นเงินสดให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วให้ ส. เช่าซื้อไปจากจำเลยที่ 2 โดยที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. เป็นร้านค้าบริการขายรถยนต์ การที่จำเลยที่ 2 ซื้อรถพิพาทไปจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการถือได้ว่า จำเลยที่ 2 ซื้อรถพิพาทมาจากพ่อค้าขายของชนิดนั้นโดยสุจริตแล้วจำเลยที่ 2 ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความในมาตรา 1332 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือไม่จำต้องคืนรถยนต์พิพาทให้แก่เจ้าของแท้จริงเว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมา เมื่อปรากฏว่ารถพิพาทอยู่ในความครอบครองของโจทก์ โจทก์ก็ต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 2 ตามฟ้องแย้ง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ส่งมอบรถพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และชดใช้ค่าเสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์