แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยลงชื่อในเอกสาร โดยเจตนาทำสัญญานายหน้ากับโจทก์ แต่กลับเป็นสัญญาจะขายที่ดิน ดังนี้ เป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสารสำคัญแห่งนิติกรรมตกเป็นโมฆะ จำเลยนำสืบพยานบุคคลได้ว่าเอกสารไม่ถูกต้อง
ย่อยาว
คดีทั้ง 4 สำนวนนี้ โจทก์แยกฟ้องจำเลยแต่ละคนเป็นใจความตรงกันว่า เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2495 จำเลยได้ตกลงขายที่ดินโฉนดหมายเลขที่ 3981 บางส่วนเนื้อที่ 52 ไร่ โฉนดเลขที่ 3974 บางส่วนเนื้อที่ 15 ไร่ โฉนดเลขที่ 3997 บางส่วนเนื้อที่ 20 ไร่โฉนดเลขที่ 3973 บางส่วนเนื้อที่ 15 ไร่ ตามลำดับ ตำบลบางปลาอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ให้แก่โจทก์ราคาไร่ละ 200 บาทจำเลยได้รับเงินค่าที่ดินจากโจทก์ในวันทำสัญญาซื้อขายครบถ้วนแล้วดังปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาท้ายฟ้อง แต่ขณะนั้นจำเลยกำลังทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้ได้มา ซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโจทก์จำเลยจึงตกลงกันว่า เมื่อจำเลยได้ที่ดินคืนมาเป็นกรรมสิทธิ์เมื่อใดแล้ว ก็จะทำการแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่ตกลงซื้อขายกันภายใน 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้โฉนดที่ดินคืนมา ต่อมาจำเลยได้ที่ดินคืนมาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2496 โจทก์ไปเตือนให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา จำเลยก็หาแบ่งแยกที่ดินส่วนที่ได้ตกลงซื้อขายกันให้โจทก์ตามสัญญาไม่จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยแบ่งแยกโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 52 ไร่, 15 ไร่, 20 ไร่ และ 15 ไร่ ตามลำดับให้โจทก์ หรือมีคำสั่งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการให้แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมค่าทนายแทนโจทก์ด้วย
จำเลยทั้ง 4 สำนวนให้การต่อสู้เป็นทำนองเดียวกันว่า ฟ้องโจทก์ไม่เป็นความจริง จำเลยไม่ได้ตกลงแบ่งขายที่ดินให้แก่โจทก์ดังฟ้อง ทั้งไม่เคยได้รับเงินค่าที่ดินไว้จากโจทก์เลยด้วย ความจริงมีอยู่ว่าที่ดินที่โจทก์ฟ้องนั้นจำเลยกับนางลิ้นจี่ ชยากร มีคดีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์กันอยู่ โจทก์ไปติดต่อกับจำเลยรับรองจะเป็นนายหน้าจัดการยื่นคำร้องถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจะวิ่งเต้นช่วยเหลือให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเหล่านั้น เมื่อจำเลยได้มาแล้วโจทก์จะขอส่วนแบ่ง 52 ไร่, 15 ไร่, 20 ไร่ และ 15 ไร่ ตามลำดับ จำเลยหลงเชื่อจึงได้ทำสัญญาทำนองซื้อขายที่ดินกับโจทก์ ต่อมาโจทก์มิได้จัดการยื่นคำร้องให้แก่จำเลยตามที่ตกลงกัน จำเลยต้องทำคำร้องยื่นต่อคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดินเอง จนได้ที่ดินคืนมาโดยไม่เกี่ยวกับการช่วยเหลือวิ่งเต้นของโจทก์ จำเลยขอให้โจทก์คืนสัญญาให้โจทก์ก็ไม่ยอม สัญญาจะซื้อขายท้ายฟ้องจำเลยไม่รับรองว่าใช่สัญญาที่จำเลยทำกับโจทก์หรือไม่ และแผนที่ท้ายฟ้องก็ไม่ถูกต้อง หากสัญญาจะซื้อขายดังสำเนาท้ายฟ้องจะได้ทำกันขึ้นจริง จำเลยก็ขอต่อสู้ว่า (1) สัญญานั้นเป็นโมฆะ เพราะโจทก์จำเลยได้รู้ถึงเจตนาอันแท้จริงว่า มิใช่เป็นสัญญาจะซื้อขายอย่างใด (2) ขณะจำเลยทำสัญญากับโจทก์จำเลยยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินรายพิพาทซึ่งโจทก์ก็ทราบ จึงขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียม ค่าทนายแทนจำเลยด้วย
ในการพิจารณาฝ่ายจำเลยรับว่า ลายเซ็นในช่องผู้ขายตามสัญญาที่โจทก์ฟ้องเป็นลายเซ็นของจำเลยจริง ศาลจึงสั่งให้จำเลยเป็นฝ่ายสืบก่อน และให้รวมพิจารณาพิพากษาคดีทั้ง 4 เข้าด้วยกัน ชั้นศาลอุทธรณ์ก็ได้พิจารณาพิพากษาคดีทั้ง 4 สำนวนนี้ร่วมกัน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเชื่อว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อขายกันดังที่โจทก์นำมาฟ้อง จำเลยนำสืบไม่ได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะขายสัญญาไม่เป็นโมฆะดังจำเลยต่อสู้ จึงพิพากษาให้นายใบ นายเล็กนายท้วม นายจวนแบ่งแยกโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ตามฟ้อง และให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียมเป็นรายสำนวน กับค่าทนายสำนวนนายใบ 250 บาท นอกนั้นสำนวนละ 150 บาท
จำเลยทั้ง 4 สำนวนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่เชื่อว่าโจทก์จำเลยตั้งใจทำสัญญาจะซื้อขายกัน สัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องไม่ได้แสดงเจตนาอันแท้จริงของคู่กรณี ซึ่งความจริงเป็นสัญญาเกี่ยวกับค่านายหน้าที่โจทก์อาสาวิ่งเต้นช่วยเหลือจำเลยกับพวกให้ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินคืนมา สัญญาจึงเป็นโมฆะตาม มาตรา 118 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้บังคับจำเลยไม่ได้ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียม ค่าทนาย 2 ศาล เป็นเงิน 500 บาท แทนจำเลย
โจทก์ฎีกาคัดค้านต่อมาว่า (1) จำเลยรับแล้วว่าได้ลงชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือไว้ในสัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องแล้ว จำเลยจะนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารที่จำเลยทำไว้แล้วหาได้ไม่ ทั้งจำเลยให้การต่อสู้คดีไว้ว่าได้ตกลงกับโจทก์เป็นทำนองซื้อขายที่ดินแต่เวลานำสืบกลับนำสืบว่าเป็นเรื่องนายหน้า หาตรงกับประเด็นที่จำเลยให้การไม่ (2) สัญญาปรากฏชัดว่า จำเลยได้รับเงินค่าที่ดินไปจากโจทก์แล้ว จำเลยจะนำสืบหักล้างว่าไม่ได้รับเงินไม่ได้ (3) ที่ดินที่ซื้อขายกันนี้ศาลอุทธรณ์ว่าราคาไร่ละ 1,200-1,300 บาท แต่จำเลยขายเพียงไร่ละ 200 บาท จึงไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้นั้น โจทก์ขอชี้แจงว่าที่โจทก์ซื้อที่ได้ในราคาถูกก็เพราะโจทก์ซื้อโดยเสี่ยงโชค
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นควรวินิจฉัยข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในฎีกาเสียก่อน โจทก์กล่าวในข้อฎีกาข้อ 1 และข้อ 2 ของตนว่าเมื่อจำเลยยอมรับว่า ได้ลงลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือในสัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องแล้ว ศาลไม่ควรยอมให้จำเลยนำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความแห่งเอกสารนั้น และเมื่อสัญญาระบุไว้ชัดว่าจำเลยได้รับเงินค่าที่ดินไปแล้ว จำเลยจะนำสืบหักล้างว่าความจริงตนไม่ได้รับเงินไปนั้นไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องนี้จำเลยต่อสู้ว่าความจริงตนไม่ได้ตั้งใจจะทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์ ต้องการแต่จะทำสัญญาให้ค่านายหน้าแก่โจทก์ ในเมื่อโจทก์ทำการวิ่งเต้นช่วยเหลือให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินซึ่งจำเลยกำลังเป็นความกับนางลิ้นจี่อยู่ เมื่อปรากฏว่าสัญญาที่พวกจำเลยทำไว้กับโจทก์กลายเป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดินไป จำเลยจึงได้ต่อสู้ว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ เพราะได้ทำลงด้วยความสำคัญผิดในสารสำคัญแห่งนิติกรรม ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีเป็นเรื่องจำเลยต่อสู้ว่า เอกสารสัญญาจะซื้อขายที่ตนทำไว้กับโจทก์นั้นไม่ถูกต้องทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเรื่องจำเลยนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารที่โจทก์นำมาฟ้อง จำเลยจึงอาจนำสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสุดท้าย ทั้งในข้อที่ว่าสัญญาที่แท้จริงเป็นสัญญาอะไร และในข้อที่ว่าความจริงจำเลยไม่เคยได้รับเงินค่าที่ดินจากโจทก์เลยด้วย ฎีกาข้อ 1 และ 2 ของโจทก์จึงตกไป
ในส่วนข้อเท็จจริง จำเลยนำสืบว่า จำเลยกำลังพิพาทกันกับนางลิ้นจี่ ชยากร เรื่องที่ ๆ โจทก์ฟ้องนี้ โจทก์ทราบเข้าจึงมาติดต่อรับจะถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อให้พวกจำเลยได้ที่พิพาททั้งหมด เมื่อได้มาแล้วโจทก์ขอค่านายหน้าจากจำเลย 52 ไร่, 15 ไร่, 20 ไร่ และ 15 ไร่ ตามลำดับ จำเลยก็ยอมตกลงด้วย แล้วโจทก์จำเลยนัดกันไปที่บ้านนายชุบโดยโจทก์ให้พวกจำเลยลงนามในหนังสือทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาฉบับหนึ่ง และลงนามในสัญญาอีกฉบับหนึ่งซึ่งโจทก์บอกว่าเป็นสัญญานายหน้า แต่ทำเป็นทำนองสัญญาจะซื้อขายนายใบและนายท้วมลงนามให้ไปโดยทั้งสองคนอ่านหนังสือไม่ออก นายจวนนายเล็กลงนามให้ไปโดยเข้าใจว่าเป็นสัญญานายหน้า ขณะนั้นนอกจากโจทก์กับจำเลยแล้วยังมีนายผัน นางลอยนายเพิ่ม นางเข็ม นายเฉลิมอยู่ที่บ้านนายชุบด้วย ในวันลงนามในฎีกาและลงนามในสัญญานายหน้านั้นที่พิพาทมีราคาไร่ละ 1,200-1,300 บาท แต่ไม่มีการให้เงินให้ทองอะไรกันในวันนั้นเลย ต่อมานางลอยเป็นผู้นำฎีกาของพวกจำเลยไปยื่นทูลเกล้า ฯ ถวาย โจทก์ไม่ใช่เป็นคนอื่น หลังจากถวายฎีกาแล้วพวกจำเลยกลัวเรื่องจะชักช้าจึงทำหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีอีก ผลที่สุดคณะกรรมการสำรวจการออกโฉนดที่ดินสั่งให้ที่พิพาททั้ง 4 แปลง เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้ง 4 คน เมื่อจำเลยได้ที่แล้วโจทก์มาขอส่วนแบ่งตามที่ได้ทำสัญญากันไว้ จำเลยเห็นว่าจำเลยได้ที่คืนเพราะไปร้องเรียนทางนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ได้คืนเพราะโจทก์ช่วยวิ่งเต้นถวายฎีกา จึงไม่ยอมให้ที่ดินแก่โจทก์ตามโจทก์เรียกร้อง โจทก์จึงฟ้องคดีทั้ง 4 สำนวนนี้ขึ้น
ฝ่ายโจทก์นำสืบว่าเมื่อเดือน 11 ข้างแรม พ.ศ. 2495 นายจวน นายเล็ก จำเลยไปหาโจทก์เอาหนังสือทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาไปให้โจทก์ดูเรื่องขอที่ ๆ เป็นความกับนางลิ้นจี่คืน แล้วนายจวน นายเล็กก็พูดขอยืมเงินโจทก์คนละ 500 บาท โจทก์บอกว่าเมื่อได้ที่ตามที่ถวายฎีกาคืนแล้วขอแบ่งซื้อจากนายจวน นายเล็กคนละ 15 ไร่ ๆ ละ 200 บาท ทั้งสองคนก็ตกลง ต่อมาโจทก์ไปพูดขอซื้อที่จากนายท้วม 20 ไร่ นายใบ 52 ไร่ได้อีก พวกจำเลยแจ้งว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 12ได้นัดกันจะไปลงนามในหนังสือทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาที่บ้านนายชุบโจทก์จึงว่าจะไปทำสัญญาซื้อขายที่ดินตามที่ได้ตกลงกันไว้ในวันเดียวกันด้วย ครั้นถึงวันนัดซึ่งตรงกับวันที่ 18 พฤศจิกายน 2495 โจทก์กับจำเลยก็ไปพบกันที่บ้านนายชุบจึงได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่กันและโจทก์ชำระเงินค่าที่ให้นายท้วม 4,000 บาท นายใบ 10,400 บาทนายเล็กกับนายจวนคนละ 3,000 บาท ครั้นเดือน 10 พ.ศ. 2496 โจทก์ได้ทราบว่าจำเลยได้ที่คืนมาแล้วจึงไปบอกจำเลยให้จัดการไปตามสัญญา จำเลยไม่ยอมขายจะคิดเอาไร่ละ 400 บาท โจทก์จึงไปร้องต่ออำเภอ จำเลยก็ไม่ยอมทำตามสัญญาโจทก์จึงฟ้องคดีนี้ขึ้น
ปัญหาที่ศาลฎีกาจะต้องชี้ขาดในชั้นนี้ คือว่า สัญญาที่โจทก์จำเลยทำกันไว้ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2495 นั้นเป็นสัญญาอะไรแน่และโจทก์ได้ชำระเงินค่าที่ดินให้จำเลยไปบ้างหรือไม่
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์โดยละเอียดแล้วเห็นว่า ทั้งโจทก์และจำเลยพยายามปิดบังความจริงเรื่องการถวายฎีกา โดยโจทก์กลัวว่าถ้ายอมรับว่าตนได้วิ่งเต้นช่วยเหลือจำเลยในการถวายฎีกา สัญญาที่ทำกันไว้จะมีลักษณะเป็นสัญญาเรียกค่านายหน้าเป็นที่ดิน ไม่ใช่สัญญาจะซื้อขายอย่างที่โจทก์ให้จำเลยลงนามไว้และนำมาฟ้องในคดีนี้ ฝ่ายจำเลยไม่ยอมรับว่าโจทก์ได้ช่วยเหลือวิ่งเต้นในการทูลเกล้า ฯถวายฎีกา เพราะเกรงว่าถ้ายอมรับเช่นนั้นตนอาจจะต้องแบ่งที่ดินให้โจทก์เป็นค่านายหน้า ศาลฎีกาได้พิจารณาบันทึกการเปรียบเทียบคดีของกรมการอำเภอบางพลี ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2496 ปรากฏว่านายนุ่มโจทก์ยืนยันว่าตนเป็นผู้ติดต่อวิ่งเต้นยื่นคำร้องต่อราชเลขา ฯจนเป็นผลสำเร็จ จำเลยได้ที่ดินคืนมาเป็นของตน ซึ่งเจือสมไปทางข้อต่อสู้ของจำเลยว่า สัญญาอันแท้จริงที่โจทก์จำเลยตกลงทำกันนั้นเป็นสัญญานายหน้า แต่หากได้ทำขึ้นเป็นรูปสัญญาจะซื้อขายเท่านั้นพยานประกอบที่จะให้ความข้อนี้เด่นชัดขึ้นคือว่า ขณะที่โจทก์จำเลยทำสัญญาลงวันที่ 18 พฤศจิกายนกันนั้น ไม่แน่ว่าจำเลยจะได้ที่ ๆพิพาทกับนางลิ้นจี่คืนมาทั้งหมดหรือไม่ จึงผิดวิสัยที่บุคคลจะเสี่ยงทำสัญญาซื้อขายสิ่งที่ไม่แน่นอนกันนั้นได้ นอกจากนั้นถ้าสัญญานั้นเป็นสัญญาจะซื้อขายจริง เหตุใดโจทก์จึงจะต้องเลือกซื้อที่จากจำเลยแปลงละเล็กละน้อยคนละแปลง ซึ่งอยู่ห่างไกลกันยากแก่การดูแลรักษา เมื่อพิจารณาถึงข้อสัญญาที่ว่า โจทก์ได้ชำระเงินค่าที่นานี้ให้จำเลยครบถ้วนแล้วในวันลงนามยิ่งทำให้เห็นว่าเป็นการผิดปกติอย่างยิ่งที่ผู้ใดจะชำระราคาค่าสิ่งของที่ไม่แน่ว่าตนจะได้ โดยชำระเต็มราคาตั้งแต่แรกทำสัญญาจะซื้อขาย เพราะจำเลยเป็นคนยากจนเคยขอยืมเงินโจทก์ใช้อยู่เรื่อย ๆ แม้ขณะที่เกิดคดีแล้วนายใบ จำเลยก็ให้การว่า ตนยังเป็นหนี้เงินกู้โจทก์อยู่ 2 ครั้ง เป็นเงิน 500 บาท ยังไม่ได้ชำระจนบัดนี้ โจทก์จึงไม่น่าจะเสี่ยงโชคจนถึงกับจ่ายเงินสดตั้ง 20,400 บาท ให้แก่จำเลยไปในเมื่อไม่เป็นการแน่นอนว่าตนจะได้ที่ดินจากจำเลยเป็นการตอบแทนหรือไม่ เมื่อได้พิจารณาถึงเหตุผลโดยทั่ว ๆ ไป ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้หยิบยกขึ้นกล่าวโดยละเอียดแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาที่โจทก์จำเลยตกลงจะทำกันนั้นเป็นสัญญานายหน้า แต่โจทก์ได้อำพรางความจริงโดยทำขึ้นเป็นรูปสัญญาจะซื้อขาย ฝ่ายจำเลยเป็นคนอ่านหนังสือไม่ออกเสีย 2 คน อีก 2 คนก็ไว้ใจโจทก์เอาง่าย ๆ สัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องจึงไม่ตรงตามเจตนาของคู่สัญญา ตามที่ได้พูดกันไว้ และเป็นโมฆะในฐานที่จำเลยทำไปโดยเข้าใจผิดในสารสำคัญแห่งสัญญานั้น สัญญาจึงเป็นโมฆะ ใช้บังคับจำเลยไม่ได้ ฎีกาข้อ 3 ของโจทก์เป็นอันตกไปโดยไม่ต้องวินิจฉัย
ด้วยเหตุต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้ยกฎีกาโจทก์เสีย ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียม ค่าทนาย 3 ศาล สำหรับสำนวนนายใบ 750 บาท สำนวนอื่น ๆ สำนวนละ 450 บาทแทนจำเลยด้วย