แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ปัญหาว่าอาคารที่ปลูกสร้างจะเป็นอาคารพาณิชย์หรือไม่เป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรม และจำเลยมิได้อุทธรณ์ว่าอาคารดังกล่าวเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมหรือไม่ แต่กลับอุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้ปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อเท็จจริงที่ว่าอาคารที่ปลูกสร้างเป็นอาคารพาณิชยกรรมจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กฎหมายที่บังคับขณะที่กระทำผิดและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีทั้งส่วนที่เป็นคุณและไม่เป็นคุณคละกัน ศาลใช้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย แม้คู่ความไม่ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจปรับกฎหมายและวางโทษใหม่ให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ยึดถือครอบครองที่ดินชายตลิ่งของรัฐประเภทสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเหตุให้รัฐเสียหาย เป็นการทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ จำเลยได้ปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำเข้าไปในทะเลในน่านน้ำไทยเนื้อที่ 224 ตารางวา โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าท่าหรือเจ้าพนักงานที่ได้รับมอบหมาย และจำเลยได้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์เพื่อการพาณิชย์และเพื่อพักอาศัย โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นปลัดเมืองพัทยาในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้สั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ จำเลยได้รับคำสั่งแล้วแต่จำเลยได้ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยได้ก่อสร้างอาคารดังกล่าวจนแล้วเสร็จอันเป็นการละเมิดกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360, 91 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 พ.ศ. 2515 ข้อ 11พระราชบัญญัติ การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 117, 118ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 50 พ.ศ. 2512 ข้อ 5 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 21, 40, 65, 67, 70และให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 21, 40, 65, 67, 70ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เรียงกระทงลงโทษ ฐานปลูกสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 4, 21, 65 ประกอบ มาตรา 70 จำคุก 1 ปี ปรับ 50,000 บาทฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 40, 67 ประกอบมาตรา 70 จำคุก 1 ปี ปรับวันละ 500 บาทนับแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2532 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2532 เป็นเวลา47 วันเป็นเงิน 235,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี ปรับ 285,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ว่า มิได้เป็นผู้ปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตและมิได้ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ปลูกสร้างอาคารดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต และเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคาร เมื่อจำเลยไม่รื้อถอน จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่าประเด็นที่ว่าอาคารที่ปลูกสร้างเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมหรือไม่เป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรม จำเลยจะต้องอุทธรณ์ในประเด็นที่ว่าเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมหรือไม่ เมื่อจำเลยอุทธรณ์เพียงประเด็นที่ว่า จำเลยมิได้เป็นผู้ปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตและมิได้ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยมิได้อุทธรณ์ว่าเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ว่าอาคารที่ปลูกสร้างเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมหรือไม่จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่งปรากฏว่าจำเลยกระทำผิดในขณะที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 ใช้บังคับ แต่ในภายหลังได้มีพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ใช้บังคับ ในมาตรา 65 วรรคหนึ่ง, 67 และ70 ซึ่งเป็นบทลงโทษได้มีการแก้ไขแตกต่างกับพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 โดยมาตรา 65 วรรคหนึ่ง (เดิม) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน10,000 บาท ส่วนมาตรา 65 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 67 (เดิม) ต้องระวางโทษปรับวันละ 500 บาทส่วนมาตรา 67 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและวรรคสองปรับเป็นรายวันอีกวันละไม่เกิน 30,000 บาท แต่ถ้าเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรม มาตรา 70 (เดิม) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับเป็นสิบเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมาตรา 70 (ที่แก้ไขใหม่) ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆเห็นว่า มาตรา 65 วรรคหนึ่ง และมาตรา 67 (เดิม) กำหนดโทษน้อยกว่ามาตรา 65 วรรคหนึ่ง และมาตรา 67 (ที่แก้ไขใหม่) ส่วนมาตรา 70 (เดิม)กำหนดโทษหนักกว่ามาตรา 70 (ที่แก้ไขใหม่) ฉะนั้นมาตรา 65 วรรคหนึ่งและมาตรา 67 (เดิม) เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ามาตรา 65 วรรคหนึ่งและ มาตรา 67 (ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 70 (ที่แก้ไขใหม่) เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า มาตรา 70 (เดิม) จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทกฎหมายและวางโทษเสียใหม่ให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษฐานปลูกสร้างอาคารเพื่อพาณิชยกรรมโดยมิได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบด้วยมาตรา 70ตามที่แก้ไขโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535มาตรา 25 ให้ปรับ 10,000 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 67 (เดิม)ประกอบด้วยมาตรา 70 ตามที่แก้ไขโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 25 ให้ปรับวันละ 1,000 บาท เป็นเวลา47 วันเป็นเงิน 47,000 บาท รวมปรับ 57,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ถ้ากักขังแทนค่าปรับให้มีกำหนด 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์