แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย กำหนดวินัยของลูกจ้างไว้ว่า ต้องไม่ปฏิบัติงานล่าช้า ละทิ้งหน้าที่ ละเลย หรือหลีกเลี่ยงการทำงาน การที่โจทก์ทั้งสองกับพวกหยอกล้อและเล่นกันในระหว่างเวลาทำงานเป็นความผิดครั้งแรกและเล่นหมากฮอส ในระหว่าง เวลาทำงานเป็นความผิดครั้งหลัง ล้วนแต่เป็นการละทิ้งหน้าที่อันเป็นการกระทำผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวทั้งสองครั้ง เมื่อจำเลยได้ลงโทษตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรในการที่โจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่อันเป็นความผิดครั้งแรกแล้วโจทก์ทั้งสองกลับละทิ้งหน้าที่โดยเล่นหมากฮอส ในระหว่างเวลาทำงานอันเป็นความผิดครั้งหลังอีก ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง และนายจ้าง ได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ตามข้อ 47(3) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำต่อมาจำเลยเลิกจ้างโดยอ้างว่าโจทก์ทั้งสองกระทำผิดซ้ำคำเตือนละทิ้งหน้าที่ ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทจำเลยเลิกจ้างโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชยไม่เคยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีปีละ 13 วัน และไม่เคยจัดให้หยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ 6 วัน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์ทั้งสอง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์ทั้งสองยังถือไม่ได้ว่าเป็นกระทำซ้ำคำเตือนเป็นหนังสือของจำเลยพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี แก่โจทก์ทั้งสองจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทโรงงานฟอกหนังชัยวัฒนา จำกัดจำเลยเอกสารหมาย ล.3 หมวดที่ 8 ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัยข้อ 1.1.1 กำหนดวินัยของลูกจ้างไว้ว่า “ต้องไม่ปฏิบัติงานล่าช้าละทิ้งหน้าที่ ละเลยหรือหลีกเลี่ยงการทำงาน” โดยกำหนดโทษตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ลูกจ้างผู้กระทำผิดวินัยไว้ตามข้อ 2.2 สถานหนึ่งการที่โจทก์ทั้งสองกับพวกหยอกล้อและเล่นกันในระหว่างเวลาทำงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2530 ก็ดี การที่โจทก์ทั้งสองเล่นหมากฮอส ในระหว่างเวลาทำงานครั้งหลังเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2530ก็ดี ล้วนแต่เป็นการละทิ้งหน้าที่ อันเป็นการกระทำผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทจำเลย ข้อ 1.1.1ดังกล่าวข้างต้นทั้งสองครั้ง ทั้งการที่โจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่อันเป็นความผิดครั้งแรกจำเลยก็ได้ลงโทษตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรตามเอกสารหมาย ล.2 แล้ว แต่โจทก์ทั้งสองกลับละทิ้งหน้าที่โดยเล่นหมากฮอส ในระหว่างเวลาทำงานอันเป็นความผิดครั้งหลังอีกแม้การกระทำครั้งหลังจะเป็นการเล่นที่แตกต่างกับครั้งแรก ดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่อันเป็นการกระทำผิดวินัยเรื่องเดียวกันและฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทจำเลยหมวดที่ 8 ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัยข้อ 1.1.1 ข้อเดียวกัน จึงถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทจำเลยผู้เป็นนายจ้างและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วอันเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนตามข้อ 47(3) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานซึ่งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามข้อ47(3) และไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามข้อ 45 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานสำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อกรณีได้ความเป็นยุติแล้วว่าโจทก์ทั้งสองละทิ้งหน้าที่การงานไปเสียเช่นนี้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 อีกเช่นเดียวกัน
ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีนั้น ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางแล้วว่าโจทก์ที่ 1มีสิทธิหยุดตามประเพณีรวม 19 วัน โจทก์ที่ 2 มีสิทธิหยุดตามประเพณีรวม 14 วัน และโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำได้รับค่าจ้างวันละ 73 บาท โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตามข้อ 32(2)แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฉะนั้นจำเลยจึงต้องชำระค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีรวม 19 วันแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 1,387 บาท และต้องชำระค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีรวม 14 วันแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงินจำนวน 1,022 บาท ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเฉพาะค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 1,387 บาทและโจทก์ที่ 2 เป็นเงินจำนวน 1,022 บาท