คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1044/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจำนำที่นาทำกันเมื่อ พ.ศ.2467 เป็นเวลาก่อนประกาศใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 กรณีต้องบังคับตามพ.ร.บ.การขายฝากและจำนำที่ดิน ร.ศ.115 และประกาศเรื่องจำนำและขายฝาก ร.ศ.118
คดีเรื่องจำนำ(จำนอง)หรือขายฝากที่ดิน(ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3)นั้น ให้ดูกิริยาที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันว่าเป็นจำนำหรือขายฝาก แม้ในสัญญาจะมีข้อความเป็นอย่างอื่น ก็ต้องถือตามกิริยาที่ประพฤติต่อกัน (อ้างฎีกาที่ 22 ร.ศ.117, ที่ 25 ร.ศ.123,467/2487,81/2469,790/2469)
โจทก์ได้มอบที่ดินให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยมาตั้งแต่พ.ศ.2470 อันเป็นการปฏิบัติตามสัญญาจำนำที่ทำกันขึ้นเมื่อ พ.ศ.2467จึงเป็นกิริยาการขายฝากเมื่อไม่ไถ่ภายใน 10 ปี ที่นาก็หลุดเป็นสิทธิแก่จำเลยตามลักษณะขายฝากโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอไถ่ได้ (อ้างฎีกาที่ 760/2469)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2467 โจทก์ได้จำนำนาของโจทก์ไว้กับนายคลัง อินทปัจ บิดาจำเลย 1 แปลง เป็นเงิน 400 บาท ได้ทำกรมธรรม์สัญญาต่ออำเภอ นายคลังตาย นารายนี้ตกแก่จำเลยเมื่อเดือนมีนาคม 2491 โจทก์ได้ไปขอไถ่การจำนำนารายนี้ จำเลยไม่ยอม จึงขอให้ศาลบังคับ จำเลยให้การว่า โจทก์ทำนาอยู่ได้ 3 ปี ไม่ได้ส่งดอกเบี้ยเลย ครั้น พ.ศ. 2470 โจทก์จึงมอบนาให้แก่นายคลัง แทนการชำระหนี้ นายคลังและจำเลยได้ครอบครองมาจนบัดนี้ นารายนี้เป็นที่นามือเปล่า โจทก์สละการครอบครองมาตั้ง 22 ปีแล้ว จึงควรเป็นกรรมสิทธิ์แก่นายคลังและจำเลย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีเรื่องนี้เป็นเรื่องบังคับตามสัญญาจำนำที่นา ซึ่งทำกันเมื่อ พ.ศ. 2467 อันเป็นเวลาก่อนประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 จึงต้องบังคับตามกฎหมายที่ใช้อยู่ก่อนใช้ประมวลนั้นโดยเฉพาะคือ พระราชบัญญัติการขายฝากและจำนำที่ดิน ร.ศ. 115 และประกาศเรื่องการจำนำและขายฝากที่ดิน ร.ศ. 118 ศาลฎีกาเห็นว่า คดีเรื่องจำนำ (จำนอง) หรือขายฝากที่ดิน (ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3) นั้นมีประเพณีมาแต่แรก ให้ดูกิริยาที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันมาว่า เป็นจำนำหรือขายฝาก แม้ในสัญญาจะมีข้อความเป็นอย่างอื่น ก็ต้องถือตามกิริยาที่ประพฤติต่อกันกรณีนี้ได้ความตามคำพยานโจทก์ว่าโจทก์ได้มอบที่ดินให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2470 อันเป็นการปฏิบัติตามสัญญาจำนำที่ได้กันขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2467 จึงเป็นกิริยาขายฝาก เมื่อโจทก์ไม่ไถ่ภายใน 10 ปีที่นารายนี้ก็หลุดเป็นสิทธิแก่จำเลยตามสัญญาขายฝาก โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอไถ่ได้

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share