คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1043/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537 เป็นต้นไป เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2538 ป.บุตรโจทก์ที่ 1และเป็นบิดาโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 เนื่องจากพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 3 ให้ยกเลิกข้อ 2(6) และข้อ 3 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ซึ่งเกี่ยวกับเงินทดแทน การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าลักษณะงานที่จำเลยจ้าง ป.ทำในคดีนี้เป็นงานเกษตรกรรมที่มิได้จ้าง ป. ให้ทำงานตลอดปีและไม่มีงานอื่นรวมอยู่ด้วย กรณีจึงมิได้อยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงานตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม เมื่อเป็นการนำกฎหมายในส่วนที่ถูกยกเลิกไปแล้วมาบังคับ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานดังกล่าวย่อมไม่ชอบข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5),246ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 เมื่อปัญหาว่าจำเลยต้องปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ เรื่องเงินทดแทน เพราะจำเลยมิได้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นที่สุดตามอุทธรณ์โจทก์ทั้งสามหรือไม่นั้น เป็นข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า จำเลยได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแล้วหรือไม่เสียก่อนเมื่อศาลแรงงานยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวมาจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31,56 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1ที่ 2 และที่ 3
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า นายประยงค์ โสมจินดา เป็นบุตรโจทก์ที่ 1 และเป็นบิดาโจทก์ที่ 2 ที่ 3 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์2537 จำเลยจ้างนายประยงค์เข้าทำงานในไร่สับปะรด อัตราค่าจ้างวันละ 100 บาท วันที่ 4 พฤศจิกายน 2538 จำเลยขับรถพานายประยงค์ไปทำงานในไร่ โดยจำเลยได้ขับรถด้วยความประมาทรถยนต์บรรทุก 10 ล้อเป็นเหตุให้นายประยงค์ถึงแก่ความตาย วันที่ 27 ธันวาคม 2538โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งที่ 1/2539 ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนสำหรับกรณีลูกจ้างประสบอันตรายจนถึงแก่ความตายแก่โจทก์ทั้งสามเป็นรายเดือนเดือนละ 2,000 บาท มีกำหนด 8 ปีรวมเป็นเงิน 192,000 บาท โดยโจทก์แต่ละคนได้รับส่วนแบ่งเท่า ๆ กันเป็นเงินคนละ 666.65 บาท ต่อเดือน จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ต่อมาคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีหนังสือที่ รส 0711/2539 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2539 แจ้งให้จำเลยทราบว่านายประยงค์ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่จำเลย จำเลยต้องจ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว จำเลยได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์แล้วเพิกเฉยทั้งไม่นำคดีมาสู่ศาลแรงงานภายในกำหนดและไม่ยอมจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสาม รวมเงินทดแทนที่จำเลยค้างจ่ายถึงวันฟ้องแก่โจทก์คนละ 10,666.40 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามคนละ 64,000 บาท โดยให้จ่ายตามกำหนดระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดไว้ในคำสั่งที่ 1/2539 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในส่วนที่ค้างชำระนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า จำเลยให้นายประยงค์ โสมจินดามาช่วยทำไร่สับปะรดของจำเลยเป็นการขอแรงมาช่วยเป็นครั้งคราวไม่มีค่าตอบแทนโดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนขอแรงกันไม่เกินปีละ 2 ถึง 3 ครั้ง และการขอแรงดังกล่าวเป็นงานเกษตรกรรมไม่ได้ใช้งานนายประยงค์ตลอดปี และไม่มีงานอื่นรวมอยู่ด้วยจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน2515 การที่นายประยงค์ประสบอันตรายถึงแก่ความตายมิใช่เนื่องจากการทำงานให้จำเลย จำเลยเคยได้รับแจ้งจากสำนักงานประกันสังคมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามหนังสือที่ ปข 0041/828 ลงวันที่ 30มกราคม 2539 ว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามแต่จำเลยไม่เคยได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์จากสำนักงานประกันสังคมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องนำคดีมาสู่ศาลแรงงาน จำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหาย ค่าสินไหมทดแทน ค่าปลงศพค่าทดแทนให้โจทก์ที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาโจทก์ทั้งสามไม่ได้ฟ้องเรียกเงินทดแทนต่อศาลแรงงานใน 1 ปี นับแต่วันที่นายประยงค์ถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงขาดอายุความและโจทก์ทั้งสามไม่ได้เป็นบิดาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประยงค์ โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยให้จ่ายเงินทดแทนขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยจ้างนายประยงค์ โสมจินดาทำงานในไร่สับปะรดปีละ 3 ถึง 4 ครั้ง ทำงานครั้งละประมาณ 1 สัปดาห์เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2538 จำเลยขับรถพานายประยงค์ไปยังไร่สับปะรดของจำเลยที่อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยขับรถชนกับรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ เป็นเหตุให้นายประยงค์ถึงแก่ความตาย วันที่ 27 ธันวาคม 2538 โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์วันที่ 8 มีนาคม 2539 พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งที่ 1/2539 เรื่อง เงินทดแทน ว่านายประยงค์ประสบอันตรายจนถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้จำเลย และให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนแก่ทายาทผู้มีสิทธิคือโจทก์ทั้งสามเป็นรายเดือน เดือนละ 2,000 บาทมีกำหนด 8 ปี รวมเป็นเงิน 192,000 บาท จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2539คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติว่านายประยงค์ประสบอันตรายจนถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้จำเลย จำเลยต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว แต่จำเลยเพิกเฉยแม้นายประยงค์ประสบอันตรายจนถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้จำเลยแต่ลักษณะงานที่จำเลยจ้างเป็นงานเกษตรกรรมซึ่งมิได้จ้างนายประยงค์ให้ทำงานตลอดปีและไม่มีงานอื่นรวมอยู่ด้วยจึงเป็นการจ้างงานที่ได้รับการยกเว้นมิให้อยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ข้อ 4(4) ประกอบประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2515 และลงวันที่ 12กันยายน 2514 จึงมิได้อยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงานตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้อ 2ข้อ 3 ข้อ 4 และ ข้อ 5 อีกต่อไป พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำนวน
โจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่าหลังจากนายประยงค์ โสมจินดา ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้จำเลย โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งให้จำเลยจ่ายเงินทดแทน จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่ง คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยทราบคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแล้วไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนดังกล่าวเป็นที่สุด จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ 1/2539 เรื่องเงินทดแทน นั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537 เป็นต้นไป และข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2538 นายประยงค์ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้จำเลย ดังนั้น จำเลยจะต้องรับผิดจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 เนื่องจากพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 3 ให้ยกเลิกข้อ 2(6) และข้อ 3แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515ซึ่งเกี่ยวกับเงินทดแทน การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าลักษณะงานที่จำเลยจ้างนายประยงค์เป็นงานเกษตรกรรมที่มิได้จ้างนายประยงค์ให้ทำงานตลอดปีและไม่มีงานอื่นรวมอยู่ด้วย มิได้อยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงานตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่16 มีนาคม 2515 จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม จึงเป็นการนำกฎหมายในส่วนที่ถูกยกเลิกไปแล้วมาบังคับ คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ทั้งสามมิได้อุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5), 246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 แต่จำเลยต้องปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ 1/2539 เรื่องเงินทดแทน เนื่องจากจำเลยมิได้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นที่สุดตามอุทธรณ์โจทก์ทั้งสามหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานกลางต้องวินิจฉัยในประเด็นข้อ 3 ที่ว่า จำเลยได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแล้วหรือไม่ เสียก่อน เมื่อศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม ชอบที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวและประเด็นข้อพิพาทข้ออื่นที่ยังมิได้วินิจฉัยเสียใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31, 56 วรรคสอง
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share