แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เช็คพิพาทเป็นเช็คผู้ถือ แม้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วก็ยังคงมีสภาพเป็นเช็คที่สามารถโอนเปลี่ยนมือต่อไปได้ ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1007 วรรคแรก และวรรคสามบัญญัติให้ผู้สั่งจ่ายสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาใช้เงินในเช็คได้ เมื่อจำเลยเป็นผู้ขีดฆ่าแก้ไขวันที่ลงในเช็คพิพาทจึงต้องผูกพันรับผิดตามเช็คโดยถือว่าเช็คพิพาทมีกำหนดเวลาใช้เงินในวันที่แก้ไขนั้น และกรณีมิใช่การตกลงขยายอายุความฟ้องร้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาระยองเลขที่ 7707711 ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2526 จำนวนเงิน 40,000 บาทมีจำเลยลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่าย มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ ต่อมาในวันที่ 17 ตุลาคม 2526 โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันเดียวกันโจทก์ทวงถามจำเลยหลายครั้งแต่จำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน คิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยจำนวน 2,591.67 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์จำนวน42,591.67 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 42,591.67 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงินจำนวน40,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้สั่งจ่ายเช็คตามฟ้องเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์โจทก์จึงมิใช่ผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเช็คตามฟ้องลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2526 มิใช่ลงวันที่ 18 ตุลาคม2526 (ที่ถูกลงวันที่ 15 ตุลาคม 2526) ตามที่โจทก์อ้าง และบุคคลที่รับเช็คจากจำเลยก็ใช้สิทธิเรียกร้องตามวันที่ระบุไว้ในเช็คแล้วฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย และพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเฉพาะประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 40,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่17 ตุลาคม 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเพียงว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ คดีนี้ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คเงินสด เดิมลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2526 เมื่อถึงกำหนดใช้เงินถูกนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินต่อมาจำเลยเป็นผู้ขีดฆ่าวันเดือนและปีที่เขียนไว้เดิม และเขียนวันเดือนและปีใหม่เป็นวันที่ 15 ตุลาคม 2526 โดยจำเลยลงชื่อกำกับการแก้ไขไว้ด้วย โจทก์ได้นำเช็คพิพาทที่แก้ไขวันที่แล้วไปเรียกเก็บเงินอีกครั้งก็ถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินตามเช็คพิพาทจากจำเลยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2527เห็นว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คเงินสดหรือเช็คผู้ถือซึ่งเดิมลงวันที่7 กุมภาพันธ์ 2526 แม้จะถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินไปแล้วก็ยังคงมีสภาพเป็นเช็คที่สามารถโอนเปลี่ยนมือกันต่อไปได้ จึงเป็นเช็คที่ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1007 วรรคแรก และวรรคสาม ก็ได้บัญญัติให้ผู้สั่งจ่ายสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาใช้เงินในเช็คได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยเป็นผู้ขีดฆ่าแก้ไขวันที่ลงในเช็คพิพาท จึงต้องผูกพันรับผิดชดใช้เงินตามเช็คดังกล่าว โดยถือว่าเช็คพิพาทมีกำหนดเวลาใช้เงินในวันที่ 15 ตุลาคม 2526 ตามที่แก้ไขนั้น กรณีหาใช่เป็นเรื่องตกลงขยายอายุความฟ้องร้องดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายฟ้องเรียกเงินตามเช็คพิพาทจากจำเลยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2527 โดยระบุว่าจำเลยออกเช็คเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2526 ซึ่งยังไม่พ้นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่เช็คถึงกำหนดใช้เงินเช่นนี้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ”
พิพากษายืน