คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติ ควบคุมการประกอบโรคศิลปะฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับเวชกรรม ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 แล้ว ดังนั้นที่ศาลล่างพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะฯ ตามคำขอของโจทก์จึงไม่ถูกต้องปัญหานี้แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน คือ

ก. จำเลยทั้งสี่มิได้เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาเวชกรรมตามกฎหมายได้ร่วมกันกระทำการประกอบโรคศิลปะเพื่อประสงค์สินจ้างรางวัล และได้รับเงินค่าจ้างรักษาโรคจากคนไข้อันเป็นสินจ้างรางวัลโดยจำเลยทั้งสี่มิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะจากคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ และมิได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย

ข. จำเลยทั้งสี่มิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายได้ร่วมกันกระทำการประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยจำเลยทั้งสี่มิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภาและมิได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย

ค. จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันหลอกลวงประชาชนด้วยการโฆษณาต่อบุคคลทั่วไป อันเป็นเท็จว่า จำเลยที่ 1 สำเร็จแพทยศาสตร์ เป็นแพทย์ประจำตำบล ได้รับการอบรมหลักสูตรแพทย์พยาบาล สามารถรักษาโรค 23 ประเภท ให้หายขาดได้ ซึ่งความจริงจำเลยที่ 1 ไม่เคยสำเร็จแพทยศาสตร์ ไม่ได้เป็นแพทย์ประจำตำบล ไม่เคยรับการอบรมวิชาแพทย์พยาบาล และไม่สามารถรักษาโรคต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนได้ตามที่โฆษณาโดยการหลอกลวงของจำเลยทั้งสี่ ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อให้จำเลยทั้งสี่ ร่วมกันรักษาโรค และต้องจ่ายเงินค่ารักษาให้แก่จำเลยทั้งสี่รวม 57 ราย แต่คนไข้ทุกรายไม่มีผู้ใดหายจากโรคตามที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหลอกลวงแต่อย่างใด

ง. จำเลยทั้งสี่ร่วมกันมียาไดอาซีแปม ชนิดฉีด ขนาด 10 มิลลิกรัม จำนวน 2 หลอด อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 4 ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย

เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสี่ได้พร้อมด้วยยา อุปกรณ์ เอกสารอันเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเลยใช้และมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 83, 91, 33 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 มาตรา 4, 11, 21 พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2504 มาตรา 3 พระราชบัญญัติ ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2511(ที่ถูก พ.ศ. 2509) มาตรา 6 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 38 ข้อ 1 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4, 26, 83 (ที่ถูก 43) พระราชบัญญัติ วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62, 106 ขอให้สั่งริบของกลาง และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงินแก่ผู้เสียหาย

จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 83 จำคุกคนละ 1 ปี และจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 มาตรา 4, 11, 21 พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2504 มาตรา 3 พระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2511 (ที่ถูก พ.ศ. 2509) มาตรา 6 พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 4, 26, 83 (ที่ถูก 43) พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62, 106 ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ จำคุก 6 เดือน ลงโทษตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรมจำคุก 4 เดือน ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท จำคุก 2 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปีจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 4 มีกำหนดคนละ 1 ปี ริบของกลางและให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ร่วมกันคืนเงินค่ารักษาแก่ผู้เสียหาย ยกฟ้องจำเลยที่ 3

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสี่กระทงแล้วให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 12 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าจำเลยที่ 4 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามที่โจทก์ฎีกาหรือไม่…พฤติการณ์ตามที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 มีเจตนาหลอกลวงนายเล็กให้รักษาโรคกับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 4 ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

อนึ่ง เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องโจทก์ข้อ ก. และข้อ ข. เป็นการกระทำที่เป็นกรรมเดียวกัน มิใช่เป็นคนละกรรมกันนอกจากนั้นที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ จำเลยที่ 1 จากการกระทำผิดในฟ้องข้อ ก. ตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะฯในส่วนที่เกี่ยวกับเวชกรรม แต่ปรากฏว่ากฎหมายในส่วนดังกล่าวได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2511 แล้วดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติ ควบคุมการประกอบโรคศิลปะฯ ตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องจึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้แม้จะไม่มีฝ่ายใดฎีกามาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมวินิจฉัยเองได้

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะฯ ตามที่โจทก์ฟ้อง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนดเพียง 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share