แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการขายทอดตลาดของศาล ว.ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้ราคาสูงสุด ช.ให้ราคารองลงมา ศาลสั่งอนุญาตให้ขายแก่ ว. ให้ ว.วางเงินมัดจำในวันนั้น หากไม่นำเงินมาวางก็เป็นอันยกเลิกไม่ขายให้ ว.และให้ขายแก่ ช. ให้ ช. วางมัดจำในวันที่กำหนดให้ ว. ขอผัดวางเงิน ศาลไม่อนุญาต ดังนี้ ศาลจะสั่งให้ขายให้แก่ ช. โดยมิได้ขายทอดตลาดใหม่หาได้ไม่ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 514 เมื่อ ว. ได้สู้ราคาสูงขึ้นไปกว่า ช. ช.ย่อมพ้นความผูกพันในราคาที่ตนสู้ และศาลก็ได้สั่งให้ขายให้ ว. เมื่อ ว. ไม่ชำระราคาตามกำหนด และศาลไม่อนุญาตให้ผัดการวางเงินออกไปอีก ว. จึงเป็นผู้สู้ราคาสูงสุดที่ได้ละเลยเสียไม่ใช้ราคา ศาลจะต้องเอาทรัพย์นั้นออกขายอีกซ้ำ ตามมาตรา 516 ถ้าได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม จำเลยโดย ว.ผู้รับมอบอำนาจจะต้องรับผิดในส่วนที่ขาดนั้น
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองต่อศาลแพ่ง ชนะคดีแล้วนำยึดที่ดินจำนองเพื่อขายทอดตลาด โดยศาลแพ่งมอบให้ศาลจังหวัดระยองดำเนินการแทน ได้ทำการขายทอดตลาดครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๑๖ แต่ศาลจังหวัดระยองเห็นว่าผู้เข้าสู้ราคาให้ราคาต่ำ จึงสั่งให้ประกาศขายทอดตลาดใหม่ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการขายทอดตลาดอีกครั้งเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ และได้รายงานต่อศาลจังหวัดระยองว่า ผู้แทนโจทก์มาศาล ส่วนจำเลยไม่มา แต่มอบให้นางวรรณี ช้อนทอง มาสู้ราคาแทน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงทำการขายทอดตลาดไป มีผู้เข้าสู้ราคา ๕ คน ปรากฏว่านางวรรณีให้ราคา ๓๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นราคาสูงสุด นายชาลี ศรีประศาสน์ ให้ราคารองลงมาเป็นเงิน ๒๑๑,๐๐๐ บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าราคาที่ผู้เข้าสู้ราคาให้นี้เป็นราคาสูงกว่าประเมิน สมควรขายได้ จึงขอให้ศาลจังหวัดระยองมีคำสั่ง ศาลจังหวัดระยองได้มีคำสั่งในวันนั้นเองว่า “อนุญาตให้ขายแก่นางวรรณี ช้อนทอง ในราคา ๓๐๐,๐๐๐ บาท โดยให้นางวรรณีวางเงินมัดจำ ๒๕% ของราคาขายภายในวันนี้ในเวลาราชการ หากนางวรรณีไม่นำเงินมาวางมัดจำในเวลาดังกล่าว ก็เป็นอันยกเลิกไม่ขายให้แก่นางวรรณี และให้ขายแก่ผู้ให้ราคาสูงคนถัดไป (นายชาลี) และให้นายชาลีนำเงินมัดจำวางมาภายในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖ (วันที่ ๒๓,๒๔ กุมภาพันธ์ เป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์)”
ในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ นั้น นางวรรณีได้ยื่นคำแถลงต่อศาลจังหวัดระยองว่า ผู้แถลงในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยขอผัดวางเงินต่อศาลภายใน ๑๐ วันนับแต่วันนี้ ศาลจังหวัดระยองมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า “ตามพฤติการณ์ไม่มีเหตุที่จะขยายเวลาวางเงินไปได้ จึงให้ยกคำร้อง”
ครั้นถึงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ นายชาลีได้นำเงินค่าซื้อทรัพย์ร้อยละ ๒๕ เป็นเงิน ๕๒,๕๐๐ บาทวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีและทำสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงนี้ในราคา ๒๑๑,๐๐๐ บาท จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ขอให้อนุญาตจำเลยนำเงินมาวางศาลภายใน ๑๐ วัน โดยให้ยกเลิกคำสั่งศาลจังหวัดระยองที่ขายทรัพย์แก่นายชาลีเสีย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๑๔ อันเป็นบทว่าด้วยการขายทอดตลาดบัญญัติว่า “ผู้สู้ราคาย่อมพ้นความผูกพันในราคาซึ่งตนสู้แต่ขณะเมื่อมีผู้อื่นสู้ราคาสูงขึ้นไป ไม่ว่าการที่ผู้อื่นสู้นั้นจะสมบูรณ์หรือมิสมบูรณ์ประการใด ฯลฯ” กรณีนี้เมื่อนายชาลีสู้ถึงราคา ๒๑๑,๐๐๐ บาท นางวรรณี ช้อนทอง สู้ราคาสูงขึ้นไปเป็น ๓๐๐,๐๐๐ บาท นายชาลีย่อมพ้นจากความผูกพันในราคา ๒๑๑,๐๐๐ บาทนั้นแล้ว และในการขายทอดตลาดที่ดินรายนี้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ซื้อต้องวางเงินมัดจำร้อยละ ๒๕ ของราคาทรัพย์ในเมื่อตกลงราคาแล้ว เมื่อนางวรรณีไม่ชำระราคาตามเวลาที่กำหนดไว้ในคำโฆษณาบอกขายและศาลจังหวัดระยองไม่อนุญาตให้ผัดการวางเงินออกไปอีก นางวรรณีจึงเป็นผู้สู้ราคาสูงสุดได้ละเลยเสียไม่ใช้ราคา ศาลจังหวัดระยองผู้ดำเนินการขายทอดตลาดจะต้องเอาทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่งตามมาตรา ๕๑๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถ้าและได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม จำเลยโดยนางวรรณีผู้รับมอบอำนาจจะต้องรับผิดในส่วนที่ขาดนั้น ฉะนั้น การที่ศาลจังหวัดระยองมีคำสั่งให้ขายทรัพย์รายนี้ให้แก่นายชาลีผู้ให้ราคาสูงคนถัดไป โดยมิได้ขายทอดตลาดใหม่ จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยมีสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นเสียได้
พิพากษากลับให้ศาลจังหวัดระยองดำเนินการขายทอดตลาดใหม่.