คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10391/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2498 มาตรา 5 เป็นการกระทำผิดต่อรัฐโดยตรง รัฐจึงเป็นผู้เสียหายมิใช่โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำความผิดต่อรัฐมิได้เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์โดยตรง โจทก์จึงยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงิน 23,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 มิถุนายน 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากกรมประชาสัมพันธ์ให้ดำเนินบริการส่งวิทยุโทรทัศน์ผ่านไปทางสายหรือสื่อตัวนำไฟฟ้า (ระบบบอกรับสมาชิก) โดยได้รับอนุญาตจากกรมประชาสัมพันธ์ ตามพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2498 มาตรา 5 วรรคสาม ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2545 จำเลยที่ 1 ขออนุญาตดำเนินบริการส่งวิทยุโทรทัศน์ดังกล่าว กรมประชาสัมพันธ์ไม่ออกใบอนุญาตให้ แต่จำเลยที่ 1 ได้พาดสายส่งสัญญาณภาพซึ่งเป็นการบริการส่งวิทยุโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมประชาสัมพันธ์เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2498 มาตรา 5 วรรคสาม, 17 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นการกระทบสิทธิของโจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2498 มาตรา 5 เป็นการกระทำผิดต่อรัฐโดยตรง รัฐจึงเป็นผู้เสียหายมิใช่โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำความผิดต่อรัฐมิได้เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์โดยตรงแต่อย่างใด โจทก์จึงยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share