แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำสั่งของศาลชั้นต้นในเรื่องให้งดสืบพยานของคู่ความ เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ไม่ใช่คำสั่งพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายชี้ขาดเบื้องต้น กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะอุทธรณ์คำสั่งได้
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยให้โอนหุ้นให้แก่โจทก์ที่ ๒ ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงิน ๑๔๕, ๑๒๕ บาท กับดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องของโจทก์ เป็นฟ้องซ้ำและขาดอายุความกับต่อสู้คดีปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นลูกหนี้โจทก์ และฟ้องแย้ง ให้บังคับโจทก์ชำระเงิน ค่าหุ้นแกจำเลย
ศาลแพ่ง ได้ชี้สองสถาน โดยกำหนดประเด็นหน้าที่นำสืบให้โจทก์เป็นผู้นำสืบก่อน
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เปลี่ยนหน้าที่นำสืบโดยให้จำเลยนำสืบก่อน
ศาลนัดมาพร้อมกัน และสอบถามคู่ความแล้วมีคำสั่งว่า ที่ให้โจทก์นำสืบก่อนนั้น ไม่จำเป็นต้องสืบ จึงให้งดสืบพยานโจทก์นั้นเสีย ให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบตามฟ้องแย้ง แล้วให้โจทก์สืบแก้
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คำสั่งศาลแพ่งที่ให้งดสืบพยานโจทก์นั้น เห็นได้ว่า เป็นเรื่องศาลแพ่งสั่งงดสืบพนายในประเด็นข้อ ๑ และ ๒ หาใช่เป็นการสั่งเปลี่ยนหน้าที่นำสืบไม่ การสั่งเช่นนี้ ศาลสั่งได้โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๖ วรรค ๒ ไม่ใช่เป็นการสั่งตามมาตรา ๒๔ เพราะไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายอันเป็นประเด็นในคดี การที่ศาลชั้นต้นอ้างว่า เพราะคู่ความรับข้อเท็จจริงกันแล้วก็ดี มีคำพิพากษาในคดีเรื่องอื่นอยู่แล้วก็ดี ก็เป็นแค่เพียงเหตุผลที่ศาลสั่งงดสืบพยาน หายังถึงขั้นวินิจฉัยในตัวประเด็นไม่ กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นอันคู่ความจะอุทธรณ์คำสั่งได้ในบัดนี้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๘ (๓) ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำสั่งของศาลแพ่ง ในเรื่องหน้าที่นำสืบนี้เป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาต้องห้ามอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ นั้น ชอบแล้ว
พิพากษายืน