แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อกฎหมายไม่ระบุไว้ชัดเจน จะแปลให้เป็นโทษแก่จำเลยไม่ได้
จำเลยจะกระทำผิดหรือไม่นั้น ศาลเป็นผู้ชี้ขาด
คำว่า “จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง” ในพระราชบัญญัตินี้ หมายความว่าให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ศาลได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด จะนับตั้งแต่วันสอบสวนไม่ได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 23/2504)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องใช้คำว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” ในป้ายชื่อและในเอกสารใบรับเงิน แต่จำเลยฝ่าฝืนตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2500 ถึง 24 ส.ค. 01 อนึ่ง ตั้งแต่ 28 สิงหาคม2501 ซึ่งเป็นวันจำเลยถูกจับถึง 7 กันยายน 2501 จำเลยยังทำผิดเรื่องป้ายอยู่ เพิ่งทำถูกต้องเมื่อ 8 กันยายน 2501 ขอให้ศาลลงโทษ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับ 100 บาท
โจทก์อุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหาที่ว่า “การที่ศาลจะปรับจำเลยเป็นรายวันอีกนั้น จะต้องนับแต่วันใด” โดยที่ประชุมใหญ่ว่าพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ พ.ศ. 2499 มาตรา 3 มีความในวรรคท้ายตอนกำหนดโทษว่า” ผู้ฝ่าฝืนตามมาตรานี้ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทและปรับอีกไม่เกินวันละห้าสิบบาทจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง” ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่มีที่ใดระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า “จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง” นี้ให้เริ่มนับแต่วันใด จึงจะแปลว่ากฎหมายประสงค์ให้เริ่มนับแต่วันที่จำเลยถูกจับหรือเจ้าพนักงานสอบสวนจำเลยตามฟ้องโจทก์ ซึ่งโจทก์ถือว่าเป็นวันที่ความผิดปรากฏดังฎีกาโจทก์ หาได้ไม่ เมื่อกฎหมายไม่ได้ระบุหรือมีข้อความชัดเจนให้ถือเอาวันที่จำเลยถูกจับ หรือวันที่เจ้าพนักงานสอบสวนเป็นวันเริ่มนับสำหรับปรับจำเลยเป็นรายวันเช่นนี้แล้ว ศาลจะแปลให้เป็นโทษแก่จำเลยยังไม่ได้ นอกจากนี้การที่จะฟังว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่ ก็ด้วยศาลเป็นผู้ชี้ขาด จะถือเอาวันที่เจ้าพนักงานสอบสวนจำเลยว่าเป็นวันที่จำเลยกระทำผิดแล้วไม่ได้ ฉะนั้นข้อความที่ว่า “จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง” จึงหมายความให้เริ่มนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดแล้วเป็นต้นไป
อนึ่ง กำหนดโทษตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ให้ปรับอีกไม่เกินวันละ 50 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องนั้น น่าจะหมายความว่า ให้ศาลปรับเป็นรายวันอีกต่างหากไว้ในคำพิพากษาที่ปรับจำเลยสำหรับความผิดในตอนแรกนั้นเสียเลย จึงใช้คำว่า “และปรับอีก”เพื่อโจทก์จะไม่ต้องฟ้องใหม่ แต่ปัญหานี้ไม่เกิดขึ้นเพราะตามฟ้องโจทก์ปรากฏว่า จำเลยได้ปฏิบัติถูกต้องก่อนโจทก์ฟ้องแล้ว
พิพากษายืน