แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พินัยกรรม์ที่ทำขึ้นตาม พ.ร.บ.พินัยกรรม์ พ.ศ.2475 นั้นถ้ามีวันเดือนปีลงไว้ข้างต้นของพินัยกรรม์นั้นแล้วก็เป็นอันเพียงพอพะยานไม่จำต้องระบุวันเดือนปีที่นั่งเป็นพะยานไว้ข้างท้ายอีกแลไม่จำต้องจดลงไว้ด้วยตนเองว่าผู้ทำพินัยกรรม์ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าตน
ประชุมใหญ่ครั้งที่ 18/79
ย่อยาว
คดีนี้ปรากฎว่าโจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ของสามีโจทก์ จำเลยต่อสู้ว่าสามีโจทก์ได้ทำพินัยกรรม์ยกทรัพย์ให้จำเลย ปรากฎว่าพินัยกรรม์ฉะบับนั้นมีวันที่ลงไว้ข้างต้นแล้วกล่าวข้อความของพินัยกรรม์ในที่สุดมีพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ทำพินัยกรรม์มี ด.และ พ. ลงชื่อเป็นพะยานในการพิมพ์ลายนิ้วมือ ถัดลงมามี ศ.ลงชื่อเป็นผู้เขียนอ่านและพะยานในท้ายพินัยกรรม์มีข้อความรับรองว่า “ข้าพเจ้าพะยานรับรองว่านายโสมได้ลงลายมือต่อหน้าพะยานในพินัยกรรม์นี้” แล้วลงชื่อ ด.และ พ.เป็นพะยาน ซึ่งในตอนท้ายพินัยกรรม์นั้นไม่มีการลงวันเดือนปีไว้อีก
ศาลชั้นต้นคำพิพากษาว่าพินัยกรรม์ฉะบับนี้ไม่สมบูรณ์ให้จำเลยคืนทรัพย์ให้โจทก์
ศาลฎีกาตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์ว่าพินัยกรรม์ฉะบับนี้แม้ได้ระบุวันเดือนปีไว้เพียงข้างต้นก็ดี ถ้าอ่านตลอดก็คงได้ความว่าพะยานระบุวันรับรองแล้ว โดยพะยานรับรองว่าผู้ทำพินัยกรรม์ได้ลงชื่อต่อหน้าพะยานในวันที่ลงไว้ข้างต้น ตามกฎหมายไม่มีว่าจะต้องมีวันเดือนปีกี่แห่ง เมื่อมีข้างต้นก็พอแล้ว ถึงแม้พะยานจะไม่ได้เขียนเองตามกฎหมายก็ไม่มีกล่าวไว้ชัดว่าต้องทำเช่นนั้น พินัยกรรม์ฉะบับนี้จึงสมบูรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์