คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 103/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจ้าหนี้รับเช็คทั้งหกฉบับซึ่งลูกหนี้เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมาจาก บ. โดย บ.เป็นผู้นำมาขายลดแก่เจ้าหนี้โดยตรง มิใช่ บ. เป็นตัวแทนของลูกหนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้กับ บ.จึงเป็นสัญญาขายลดเช็คส่วนลูกหนี้จะต้องผูกพันรับผิดต่อเจ้าหนี้ ซึ่งเป็น ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 904 ในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คทั้งหกฉบับมิใช่คู่สัญญาขายลดเช็ค ดังนั้น เมื่อวันที่เช็คทั้งหกฉบับถึงกำหนดใช้เงินถึงวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ล่วงเลยระยะเวลา 1 ปีแล้วสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ จึงเป็นหนี้ที่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ ตามมาตรา 94(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องลูกหนี้ (จำเลย) ขอให้ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2527 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่26 กรกฎาคม 2528 ต่อมานายนิกร ตั้งพร้อมจิตต์เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นเงินจำนวน641,046 บาท
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจคำขอรับชำระหนี้แล้วทำความเห็นเสนอศาลชั้นต้นว่าควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ ศาลชั้นต้นเห็นชอบด้วย จึงมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ เจ้าหนี้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2528 เจ้าหนี้ได้มอบอำนาจให้นายประเสริฐ สินธพนำเช็คธนาคารกสิกรไทย สาขาลาดกระบัง จำนวน 6 ฉบับ ซึ่งลูกหนี้เป็นผู้สั่งจ่าย รวมจำนวนเงินทั้งสิ้น 641,046 บาท มาขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินตามเช็คแต่ละฉบับในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินนายประเสริฐ คงสมบูรณ์ศักดิ์เจ้าหนี้รายที่ 8 ได้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ว่า มูลหนี้ที่เจ้าหนี้มายื่นขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ที่ฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้เนื่องจากขาดอายุความ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตรวจคำขอรับชำระหนี้แล้ว เห็นว่า เช็คทั้งหกฉบับที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ล่วงเลยระยะ 1 ปี นับแต่วันที่เช็คดังกล่าวถึงกำหนดแล้ว จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1002 ฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ กรณีจึงไม่อาจจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายนี้ได้ ต้องห้ามตามมาตรา แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามเช็คทั้งหกฉบับ จากนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นเสนอต่อศาลชั้นต้นว่าควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย จึงมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ในชั้นนี้มีว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้หรือไม่ ที่เจ้าหนี้ฎีกาว่าหนี้ตามเช็คทั้งหกฉบับที่เจ้าหนี้นำมารับชำระหนี้ เป็นหนี้ตามสัญญาขายลดเช็ค นายบุญมี เพชรธำรงค์ชัยเป็นเพียงตัวแทนของลูกหนี้นำเช็คทั้งหกฉบับมาขายลดให้เจ้าหนี้นั้น ปรากฏตามคำให้การของเจ้าหนี้ชั้นสอบสวนประกอบคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าเจ้าหนี้ได้รับเช็คทั้งหกฉบับจากนายบุญมีซึ่งนำมาขายลด โดยได้รับประโยชน์ในอัตราร้อยละ1.25 บาท ต่อเดือน แต่ไม่เคยได้รับเช็คจากลูกหนี้โดยตรง สำหรับเช็คทั้งหกฉบับนั้นบางฉบับนายบุญมีได้ลงลายมือชื่อสลักหลังบางฉบับมิได้สลักหลัง เจ้าหนี้กล้ารับเช็คเอาไว้เพราะเชื่อใจนายบุญมีซึ่งมีฐานะดี ประกอบธุรกิจโรงสีข้าว ดังนี้ จึงแสดงให้เห็นว่า เจ้าหนี้เชื่อในฐานะและความสามารถของนายบุญมีว่าจะชำระเงินคืนได้ จึงซื้อลดเช็คทั้งหกฉบับไว้ ประกอบกับตามคำให้การของเจ้าหนี้ไม่ปรากฏว่านายบุญมีเป็นตัวแทนของลูกหนี้นำเช็คทั้งหกฉบับมาขายลดตามที่เจ้าหนี้กล่าวอ้าง และเจ้าหนี้มิได้อ้างหรือนำนายบุญมีมาให้การสอบสวนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อยืนยันว่าการทำสัญญาขายลดเช็คดังกล่าวนายบุญมีเป็นตัวแทนของลูกหนี้ทั้งที่ในกรณีเช่นนี้เจ้าหนี้ผู้กล่าวอ้างมีภาระต้องนำหลักฐานต่าง ๆ มาสืบแสดงตามข้อกล่าวอ้างของตนนอกจากนี้เมื่อเช็คทั้งหกฉบับเรียกเก็บเงินไม่ได้เจ้าหนี้ได้ฟ้องลูกหนี้ฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คโดยบรรยายฟ้องระบุว่า เจ้าหนี้ได้รับโอนเช็คทั้งหกฉบับมาจากผู้มีชื่อเพื่อแลกเงินสดอีกต่อหนึ่ง รายละเอียดปรากฏตามสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย จ.13 ถึง จ.15 และเจ้าหนี้ก็ได้ให้การในชั้นสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ว่า ได้เบิกความในคดีดังกล่าวว่ามูลหนี้ตามเช็คทั้งหกฉบับมาจากการแลกเงินสด ซึ่งการที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำฟ้องและเบิกความต่อศาลนั้น ต้องกระทำไปตามความเป็นจริงมิฉะนั้นอาจมีความผิดฟ้องเท็จและเบิกความเท็จได้ คำฟ้องและคำเบิกความของเจ้าหนี้ดังกล่าว จึงเจือสมกับคำให้การของเจ้าหนี้ในคดีนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เจ้าหนี้รับเช็คทั้งหกฉบับซึ่งลูกหนี้เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมาจากนายบุญมีโดยนายบุญมีเป็นผู้นำมาขายลดแก่เจ้าหนี้โดยตรง มิใช่เป็นตัวแทนของลูกหนี้ดังที่เจ้าหนี้ฎีกา นิติสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้กับนายบุญมีจึงเป็นสัญญาขายลดเช็ค ซึ่งกฎหมายมิได้กำหนดให้จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ส่วนลูกหนี้จะต้องผูกพันรับผิดต่อเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 ในฐานะผู้สั่งจ่ายทั้งหกฉบับมิใช่คู่สัญญาขายลดเช็ค ดังนั้น เมื่อวันที่เช็คทั้งหกฉบับถึงกำหนดใช้เงิน คือวันที่ 20 ธันวาคม 2526, 5 มกราคม 2527, 5 มกราคม2527, 6 มกราคม 2527, 6 มกราคม 2527 และ 7 มกราคม 2527 ตามลำดับ ถึงวันที่ 10 มกราคม 2528 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปรากฏว่าล่วงเลยระยะ 1 ปีแล้ว สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ จึงเป็นหนี้ที่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ ตามมาตรา 94(1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share