คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 103/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 4 เมษายน 2519 ไม่มีผลบังคับเพราะการนำร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวขึ้นทูลเกล้ามิได้กระทำโดยคณะรัฐมนตรี และไม่ได้รับความยินยอมจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นการลบล้างพระบรมราชโองการเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภาขอให้พิพากษาให้สภาผู้แทนราษฎรซึ่งประกอบด้วยสมาชิกผู้ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2519 กับ คณะรัฐมนตรีซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นโมฆะให้หยุดดำเนินกิจการโดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ประกาศสลายตัวภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา และมอบหน้าที่ให้รัฐบาลชุดเดิมรับกลับคืนไป ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ และมีคำสั่งฉบับที่ 3 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 สิ้นสุดลง ให้รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญต่อมาวันที่ 20 ตุลาคม 2520 คณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองประเทศและเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพุทธศักราช 2520 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดว่าด้วยการปกครองประเทศแล้วดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ไม่อยู่ในวิสัยที่จะบังคับได้ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไปศาลฎีกามีคำสั่งจำหน่ายคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2519 หัวหน้าคณะรัฐบาลในขณะนั้นดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 4 เมษายน 2519 การนำร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ มิได้กระทำโดยคณะรัฐมนตรี และไม่ได้รับความยินยอมจากสภาผู้แทนราษฎร เป็นการลบล้างพระบรมราชโองการเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา ลงวันที่ 9มกราคม 2519 จึงไม่มีผลบังคับได้และเป็นโมฆะ ขอให้พิพากษาให้สภาผู้แทนราษฎรซึ่งประกอบด้วยสมาชิกผู้ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2519กับคณะรัฐมนตรีซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นโมฆะ ให้หยุดดำเนินกิจการโดยให้จำเลยที่ 2ที่ 3 ประกาศสลายตัวภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษาและมอบหน้าที่ให้รัฐบาลชุดเดิมรับกลับคืนไป

ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลที่จะฟ้องร้อง มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศตั้งแต่เวลา 18.00 นาฬิกา และได้มีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 สิ้นสุดลง ให้รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ

บัดนี้คณะปฏิวัติได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ตั้งแต่เวลา 18.00นาฬิกา ของวันที่ 20 ตุลาคม พุทธศักราช 2520 เป็นต้นไปแล้วและได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 2 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2520 ข้อ 1 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 สิ้นสุดลง ข้อ 2 ให้สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินและคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญและต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดว่าด้วยการปกครองประเทศแล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไป เพราะคำฟ้องของโจทก์ไม่อยู่ ในวิสัยที่จะบังคับคดีให้เป็นไปได้

จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

Share