แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การพิจารณากำหนดค่ารายปีสำหรับปีภาษีพิพาทต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ คือ นำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วนั้นมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีที่จะต้องเสียในปีต่อมาซึ่งต้องเป็นค่ารายปีที่ศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว และหากพนักงานเก็บภาษีของจำเลยจะประเมินค่ารายปีโดยกำหนดให้แตกต่างจากค่ารายปีและค่าภาษีที่ล่วงมาแล้วได้ จะต้องมีพฤติการณ์อื่นที่มีผลทำให้เปลี่ยนแปลงค่ารายปีเพิ่มขึ้นหรือลดลง ที่จำเลยนำสืบว่าได้เทียบเคียงกับสถานีบริการน้ำมันรายอื่นในบริเวณใกล้เคียงก็ปรากฏตามแผนที่ซึ่งจำเลยจัดทำขึ้นว่าสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวห่างจากสถานีบริการน้ำมันพิพาทของโจทก์ประมาณ 2 กิโลเมตร และ 3.4 กิโลเมตร ทำเลที่ตั้ง ขนาด และสภาพพื้นที่ของโรงเรือนทั้งสองไม่อาจเทียบเคียงกับสถานีบริการน้ำมันพิพาทได้ ดังนั้น การที่พนักงานเก็บภาษีของจำเลยจะนำค่าเช่าของสถานีบริการน้ำมัน 2 แห่งดังกล่าวเปรียบเทียบแล้วประเมินเป็นค่ารายปีของโรงเรือนพิพาท จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นได้ว่าการพิจารณากำหนดค่ารายปีของสถานีบริการน้ำมันพิพาทเป็นกรณีที่ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาโดยคำนึงถึงมาตรา 8 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ ด้วย นอกจากนี้โจทก์มีพยานมาเบิกความว่าสำหรับปีภาษี 2544 โรงเรือนซึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันพิพาทของโจทก์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมขึ้น สภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นยังอยู่ในสภาวะตกต่ำและชะลอตัวซึ่งก็ปรากฏว่าพนักงานเก็บภาษีของจำเลยประเมินค่ารายปีสำหรับปีภาษี 2544 เท่ากับปีภาษี 2543 และปีภาษี 2542 โดยมิได้ประเมินค่ารายปีเพิ่มขึ้นตามที่อ้างว่าบริเวณที่ตั้งของสถานีบริการน้ำมันพิพาทมีความเจริญเพิ่มขึ้นมากและปีภาษีพิพาทเศรษฐกิจไม่ได้ตกต่ำแล้ว จึงเจือสมกับคำเบิกความของพยานโจทก์ว่าค่ารายปีและค่าภาษีสำหรับปีภาษี 2544 ควรเท่ากับปีภาษี 2543 ค่ารายปีและค่าภาษีที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า การประเมินของพนักงานเก็บภาษีของจำเลยและคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยต้องคืนเงินภาษีแก่โจทก์สำหรับปีภาษี 2544 ขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาด โดยกำหนดค่ารายปีใหม่เป็นเงิน 1,303,200 บาท คิดเป็นค่าภาษี 162,900 บาท และให้จำเลยคืนเงินภาษี 196,728 บาท ให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด หากจำเลยไม่คืนภายในกำหนดดังกล่าวให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ครบกำหนด 3 เดือน นับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ค่ารายปีจำนวน 1,303,200 บาท ซึ่งศาลฎีกากำหนดไว้นั้นเป็นค่ารายปีตั้งแต่ปีภาษี 2538 ซึ่งนับถึงปีภาษีพิพาทคือปีภาษี 2544 เป็นเวลา 6 ปี ล่วงมาแล้ว สภาพความเจริญทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินค่ารายปีสถานีบริการน้ำมันรายอื่นในบริเวณใกล้เคียงกับสถานีบริการน้ำมันพิพาทของโจทก์ อันเป็นการประเมินตามสัญญาเช่าเป็นหลัก โดยมีอัตราค่าเช่าเฉลี่ยของทรัพย์สินทั้งหมดต่อตารางเมตรอยู่ที่ 50 บาทต่อเดือน แต่สถานีบริการน้ำมันพิพาทของโจทก์มีอัตราค่าเช่าเฉลี่ยของทรัพย์สินทั้งหมดต่อตารางเมตรอยู่ที่ 20.83 บาทต่อเดือน อันเป็นค่าเช่าที่ต่ำ ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน พนักงานเก็บภาษีของจำเลยจึงมีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ ตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สิน ลงวันที่ 30 มีนาคม 2535 ซึ่งคิดค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนของที่ดินต่อเนื่องอยู่ที่ 44 บาท ตึกอาคารอยู่ที่ 45 ถึง 50 บาท เป็นอัตราค่าเช่าเฉลี่ยของทรัพย์สินทั้งหมดต่อตารางเมตรอยู่ที่ 46 บาท คำนวณเป็นค่ารายปี 2,877,024 บาท โจทก์ไม่เคยโต้แย้งว่าการนำเทียบค่ารายปีกับสถานีบริการน้ำมันแห่งอื่นของพนักงานเก็บภาษีของจำเลยไม่ถูกต้องอย่างไร โจทก์อ้างเฉพาะคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2245/2541 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4374/2541 เป็นหลักที่กำหนดค่ารายปีสำหรับสถานีบริการน้ำมันพิพาทซึ่งเป็นค่ารายปีที่กำหนดมาหลายปีแล้ว ประกอบกับค่ารายปีที่ล่วงมาแล้วตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เป็นเพียงให้นำมาเป็นหลักในการคำนวณเท่านั้น ค่ารายปีในปีต่อมาอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงแล้วแต่พฤติการณ์ตามความเป็นจริง การประเมินของพนักงานเก็บภาษีของจำเลยและคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาด โดยกำหนดค่ารายปีเป็นจำนวน 1,303,200 บาท ค่าภาษีจำนวน 162,900 บาท ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 196,728 บาท แก่โจทก์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ครบกำหนดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “การประเมินของพนักงานเก็บภาษีของจำเลยและคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสำหรับปีภาษี 2544 ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า ศาลฎีกาได้กำหนดค่ารายปีและค่าภาษีสำหรับโรงเรือนซึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันพิพาทของโจทก์ตั้งแต่ปีภาษี 2538 ถึงปีภาษี 2540 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2245/2541 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4374/2541 และศาลภาษีอากรกลางยังคงกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีสำหรับปีภาษี 2542 และ 2543 ของโจทก์จำนวนเท่าเดิม ตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางคดีหมายเลขดำที่ 241/2543 คดีหมายเลขแดงที่ 242/2544 และคดีหมายเลขดำที่ 132/2544 คดีหมายเลขแดงที่ 331/2544 ดังนั้นการพิจารณากำหนดค่ารายปีสำหรับปีภาษีพิพาทต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 คือ นำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วนั้นมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีที่จะต้องเสียในปีต่อมาซึ่งต้องเป็นค่ารายปีที่ศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว และศาลภาษีอากรกลางยังได้วินิจฉัยต่อไปว่า พนักงานเก็บภาษีของจำเลยจะประเมินค่ารายปี โดยกำหนดให้แตกต่างจากค่ารายปีและค่าภาษีปีที่ล่วงมาแล้วได้ จะต้องมีพฤติการณ์อื่นที่มีผลทำให้เปลี่ยนแปลงค่ารายปีเพิ่มขึ้นหรือลดลง ที่จำเลยนำสืบว่าได้เทียบเคียงกับสถานีบริการน้ำมันรายอื่นในบริเวณใกล้เคียง ก็ปรากฏตามแผนที่ซึ่งจำเลยจัดทำขึ้นว่าสถานีบริการน้ำมันดังกล่าวห่างจากสถานีบริการน้ำมันพิพาทของโจทก์ประมาณ 2 กิโลเมตร และ 3.4 กิโลเมตร ทำเลที่ตั้ง ขนาด และสภาพพื้นที่ของโรงเรือนทั้งสองไม่อาจเทียบเคียงกับสถานีบริการน้ำมันพิพาทได้ ดังนั้น การที่พนักงานเก็บภาษีของจำเลยจะนำค่าเช่าของสถานีบริการน้ำมัน 2 แห่ง ดังกล่าว เปรียบเทียบแล้วประเมินเป็นค่ารายปีของโรงเรือนพิพาทจึงเป็นการประเมินเรียกเก็บภาษีและคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นได้ว่าการพิจารณากำหนดค่ารายปีของสถานีบริการน้ำมันพิพาท เป็นกรณีที่ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาโดยคำนึงถึงมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ด้วย นอกจากนี้โจทก์มีพยานมาเบิกความว่า สำหรับปีภาษี 2544 โรงเรือนซึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันพิพาทของโจทก์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมขึ้น สภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นยังอยู่ในสภาวะตกต่ำและชะลอตัวซึ่งก็ปรากฏว่าพนักงานเก็บภาษีของจำเลยประเมินค่ารายปีสำหรับปีภาษี 2544 เท่ากับปีภาษี 2543 และปีภาษี 2542 โดยมิได้ประเมินค่ารายปีเพิ่มขึ้นตามที่อ้างว่าบริเวณที่ตั้งของสถานีบริการน้ำมันพิพาทมีความเจริญเพิ่มขึ้นมากและปีภาษีพิพาทเศรษฐกิจไม่ได้ตกต่ำแล้ว จึงเจือสมกับคำเบิกความของพยานโจทก์ว่าค่ารายปีและค่าภาษีสำหรับภาษี 2544 ควรเท่ากับปีภาษี 2543 ค่ารายปีและค่าภาษีที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน