คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1028/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 4 เคยฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลพิพากษาตามยอมให้จำเลยที่ 4 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเกินกว่าส่วนที่ควรจะได้ ดังนี้ไม่ใช่คำพิพากษาแสดงหรือวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ย่อมไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แม้ว่าโจทก์เป็นผู้จะซื้อที่ดินแปลงนั้นจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ก็ตาม คำพิพากษาตามยอมบังคับโจทก์ไม่ได้ และไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อขาย แต่โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 4 ที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับตามสัญญาจะซื้อขาย จำเลยทั้งสี่ให้การว่าจำเลยที่ 1 และที่ 4 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยสุจริต โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อขาย โจทก์ไม่เสียหาย และจำเลยที่ 3 มิได้เกี่ยวข้องกับสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17สิงหาคม 2516 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 942, 5199, 2500 แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรีกรุงเทพมหานคร ราคา 2,050,000 บาท แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้รับเงินค่าที่ดินไปจากโจทก์แล้วเป็นเงิน 1,650,000 บาท เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 942มีชื่อนางสมบุญ บู่หาด ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้วเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทไปจัดการขอรับมรดกเฉพาะส่วนของนางสมบุญ และจำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นผู้รับมรดกแล้ว จำเลยที่ 4ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดดังกล่าวได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันปรากฏตามสำนวน คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 33/2522 ของศาลชั้นต้น ที่จำเลยที่ 2 และที่ 4ฎีกาว่าสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบและเสียหายที่จะบังคับให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจะซื้อขาย ขอให้ยกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดที่ 942 เนื้อที่ 48 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวาแขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 4ไม่ได้เป็นคู่สัญญาที่ดินดังกล่าวมีชื่อนางสมบุญ กับนางทับถือกรรมสิทธิ์ ต่อมานางทับขายเฉพาะส่วนของตนแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2ปรากฏตามภาพถ่ายสำเนาโฉนดหมาย จ.1 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 97/2522ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดดังกล่าวเนื้อที่ 24 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา เมื่อจำเลยที่ 4 ฟ้องขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 4 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2522 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยอมรับว่าส่วนของจำเลยที่ 4 ในที่ดินโฉนดดังกล่าวมีเนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน10 ตารางวา และส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 รวมกันมีกรรมสิทธิ์เนื้อที่18 ไร่ 1 งาน 40 วา ส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีเนื้อที่ 30 ไร่2 งาน 20 ตารางวา ส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้รับน้อยกว่าจำนวนที่ดินที่ตนมีสิทธิไป 6 ไร่ 40 ตารางวา โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จะบังคับเอาที่ดินจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่เต็มตามส่วนที่ควรจะได้ ย่อมเสียเปรียบและได้รับความเสียหาย โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบนั้นได้ แต่โจทก์เป็นบุคคลภายนอกจะฟ้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมของคู่ความอื่นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 33/2522 ของศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้วไม่ได้ ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 4 มีกรรมสิทธิ์เกินส่วนของตนที่ควรจะได้ไม่ใช่คำพิพากษาแสดงหรือวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ที่ดินย่อมไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และตามฟ้องของโจทก์เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ศาลแสดงว่าคำพิพากษาตามยอมนั้นบังคับโจทก์ไม่ได้และไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดิน ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาจำเลยที่ 2 ที่ 4 ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 33/2522 ของศาลชั้นต้นไม่ผูกพันโจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share