คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1027/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ลูกหนี้นำที่ดินจำนวน 6 แปลงมาจดทะเบียนจำนองไว้แก่ เจ้าหนี้เป็นประกันต่อมาเจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงทำ สัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยลูกหนี้นำที่ดิน 5 แปลงไปขายให้แก่ผู้อื่นเพื่อนำเงินที่ขายได้มาชำระแก่เจ้าหนี้ตาม ข้อตกลงและมีการไถ่ถอนจำนองไปแล้ว เจ้าหนี้จึงไม่ใช่เจ้าหนี้ มีประกันในที่ดิน 5 แปลงอีกต่อไป คงมีเพียงที่ดิน 1 แปลง ที่ยังมิได้มีการไถ่ถอนจำนอง เมื่อลูกหนี้ถูกศาลมีคำสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดมูลหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งลูกหนี้มีอยู่ต่อ เจ้าหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันโดยมีที่ดินที่ยังมิได้มีการไถ่ถอนจำนอง เป็นหลักประกันเต็มจำนวนหลักทรัพย์ ส่วนการที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอ รับชำระหนี้คดีนี้ก็เนื่องจากศาลได้เพิกถอนการชำระหนี้ที่ลูกหนี้ ได้ผ่อนชำระให้เจ้าหนี้ภายใน 3 เดือน ก่อนขอให้ล้มละลาย และภายหลังนั้นตามมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ซึ่งเป็นการผ่อนชำระหนี้ที่มีมูลหนี้ตามคำพิพากษาตาม สัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่เป็นการชำระหนี้เพื่อไถ่ถอน จำนองที่ดินแปลงที่เหลืออีก 1 แปลง ดังที่เจ้าหนี้อ้าง และสิทธิ ของเจ้าหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันยังคงมีอยู่โดยบริบูรณ์ตามคำสั่ง ศาลในคำขอรับชำระหนี้รายที่ 4 เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในสำนวน คำขอรับชำระหนี้คดีนี้อันเป็นการซ้ำซ้อนกับสิทธิของเจ้าหนี้ ในคำขอรับชำระหนี้รายที่ 4 อีก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสามไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2534ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 13352/2532 ที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนการชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2770/2539 จำนวน 6,794,508.70 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกัน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า ลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 13352/2532 ควรให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนวน6,794,508.70 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เต็มตามขอโดยมีเงื่อนไขว่าความรับผิดของลูกหนี้ที่ 2 เมื่อรวมกับความรับผิดของลูกหนี้ที่ 2 ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้รายที่ 4 แล้ว ต้องไม่เกิน114,168,911.94 บาท และความรับผิดของลูกหนี้ที่ 3 เมื่อรวมกับความรับผิดของลูกหนี้ที่ 3 ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้รายที่ 4แล้ว ต้องไม่เกิน 1,652,925.34 บาท
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนวน 6,794,508.70 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสาม สำหรับกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนวน 3,843,959.58 บาท ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน (จำนอง) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนวน 6,794,508.70 บาท ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เดิมเจ้าหนี้มีที่ดินจำนวน 6 แปลงซึ่งลูกหนี้ที่ 2 และที่ 3 นำมาจดทะเบียนจำนองไว้แก่เจ้าหนี้เป็นประกัน แต่ต่อมาเมื่อเจ้าหนี้และลูกหนี้ทั้งสามตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้วลูกหนี้ที่ 2 ก็ได้นำที่ดินจำนวน 5 แปลง ไปขายให้แก่บุคคลอื่นเพื่อนำเงินที่ขายได้มาชำระแก่เจ้าหนี้ตามข้อตกลงและมีการไถ่ถอนจำนองไปแล้ว ดังนั้น เจ้าหนี้จึงหาใช่เจ้าหนี้มีประกันในที่ดิน 5 แปลง อีกต่อไป โดยคงมีที่ดินโฉนดเลขที่ 2609 ตำบลวังบูรพาภิรมย์ อำเภอพระนครกรุงเทพมหานคร อีกเพียง 1 แปลง ที่ยังมิได้มีการไถ่ถอนจำนองอย่างไรก็ตาม เมื่อลูกหนี้ทั้งสามถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้ก็ได้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วก็มีความเห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาจำนวน 130,647,065.91 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 โดยลูกหนี้ที่ 2 ร่วมรับผิดไม่เกินจำนวน 114,168,911.94 บาท และลูกหนี้ที่ 3 ร่วมรับผิดไม่เกิน 1,652,925.34 บาท โดยให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 96(3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 จากการขายทอดตลาดที่ดินเป็นหลักประกันโฉนดเลขที่ 2609 พร้อมสิ่งปลูกสร้างในวงเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 11,646,575.34 บาท และหากขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้และจำนวนหนี้ที่ค้างชำระส่วนที่เหลือให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้สามัญ ดังปรากฏตามความเห็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคำขอรับชำระหนี้รายที่ 4 (เจ้าหนี้) ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งเห็นชอบให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์แล้ว คดีถึงที่สุดจึงเห็นได้ว่าสำหรับมูลหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งลูกหนี้ทั้งสามมีอยู่ต่อเจ้าหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันโดยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 2609 เป็นหลักประกันเต็มจำนวนหลักทรัพย์อยู่แล้วส่วนการที่เจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้คดีนี้ (สำนวนเจ้าหนี้รายที่ 5) ก็สืบเนื่องมาจากศาลได้เพิกถอนการชำระหนี้ที่ลูกหนี้ทั้งสามได้ผ่อนชำระให้แก่เจ้าหนี้ภายใน 3 เดือน ก่อนขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้นตามมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 ซึ่งก็เป็นการผ่อนชำระหนี้ที่มีมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั่นเอง หาได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นการชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนวนที่ดินแปลงที่เหลืออีก 1 แปลงดังที่เจ้าหนี้อ้างมาไม่ ทั้งสิทธิของเจ้าหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันก็ยังคงมีอยู่โดยบริบูรณ์ตามคำสั่งศาลในคำขอรับชำระหนี้รายที่ 4 ดังนั้น เจ้าหนี้จึงหามีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในสำนวนคำขอรับชำระหนี้คดีนี้อันเป็นการซ้ำซ้อนกับสิทธิของเจ้าหนี้ในคำขอรับชำระหนี้รายที่ 4 อีกไม่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนวน 6,794,508.70 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสาม โดยให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนวน3,843,959.58 บาท ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

Share