คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1027/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ห้ามพนักงานเล่นการพนันเฉพาะในระหว่างเวลาทำงาน ส่วนคำสั่งที่ออกมาก็เป็นเพียงเสริมข้อบังคับเกี่ยวกับการเล่นการพนันว่าจะมีโทษสถานเดียวคือไล่ออกเท่านั้นโดยไม่มีการสั่งพักงานอีก การที่โจทก์เล่นการพนันบนหอพักของจำเลยนอกเวลาทำงาน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย เมื่อเลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 7.2 ระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามพนักงานเล่นการพนันในระหว่างทำงาน ฉะนั้น การที่โจทก์ทั้งสองเล่นการพนันบนหอพักของจำเลยนอกเวลาทำงาน จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน คำสั่งเรื่องพักงาน เอกสารหมาย ล.3 เป็นเพียงเสริมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเท่านั้นว่า หากพนักงานเล่นการพนันในเวลาทำงาน บริษัทจำเลยจะลงโทษสถานเดียวคือ การไล่ออก ไม่ได้หมายความถึงห้ามเล่นการพนันนอกเวลาทำงานด้วย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย (เอกสารหมาย ล.1) เรื่องวินัยและโทษทางวินัย ข้อ 7.2 ระบุว่า “ระหว่างทำงาน ห้ามพนักงานทุกคนดื่มสุรา สูบบุหรี่ ของมึนเมาหรือยาเสพติดอื่นใดเล่นการพนัน หรือทะเลาะวิวาทกัน” การที่โจทก์ทั้งสองเล่นการพนันบนหอพักในบริเวณโรงงานนอกเวลาทำงาน ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน อนึ่ง แม้จะมีคำสั่งฉบับลงวันที่ 25 กันยายน 2524 (เอกสารหมาย ล.3) ออกมาแจ้งกับพนักงานมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ทางบริษัทฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การพนันทุกชนิดเป็นของผิดกฎหมายหากครั้งต่อไปมีใครเล่นการพนันไม่ว่าชนิดอะไรก็ตาม จะได้รับการลงโทษสถานเดียว “ไล่ออก” ก็ตาม ก็เป็นคำสั่งเรื่องสั่งพักงานคนงาน 6 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมฐานเล่นการพนันเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2524 เวลาประมาณ 00.10 นาฬิกา ข้อความดังกล่าวนั้นเพียงเสริมข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในข้อ 7.2 นั้นเองให้พนักงานทราบว่าหากพนักงานคนใดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในข้อ 7.2 เรื่อง เล่นการพนัน จะมีโทษสถานเดียว คือ ไล่ออกเท่านั้น โดยไม่มีการสั่งพักงานอีก ส่วนข้อความตอนต้นที่ระบุถึงเวลา 00.10 นาฬิกา ซึ่งมิใช่ในเวลาทำงาน ก็เป็นเวลาจับกุมคนงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มิได้หมายความถึงการห้ามเล่นการพนันนอกเวลาทำงาน ฉะนั้น เมื่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ห้ามพนักงานเล่นการพนันเฉพาะในระหว่างเวลาทำงาน การที่โจทก์ทั้งสองเล่นการพนันบนหอพักนอกเวลาทำงานจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสอง สำหรับจำนวนค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย วันเข้าทำงานและค่าจ้างสุดท้ายตรงตามฟ้อง ต่อมาวันที่ 19 ธันวาคม 2526 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง ซึ่งคำนวณแล้วเห็นสมควรให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามจำนวนที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง เป็นว่าให้จำเลยชำระค่าชดเชย 14,310 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,385 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และชำระค่าชดเชย 6,390 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 6,130 บาทแก่โจทก์ที่ 2 พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าชำระเสร็จ”

Share