คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1027/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมีหน้าที่สืบสวนเกี่ยวกับการกระทำผิดอาญาเมื่อโจทก์รู้ว่ามีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น โจทก์มีหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดหรือมีหน้าที่ต้องแจ้งการกระทำผิดนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจับกุม หากการกระทำผิดนั้นเกิดนอกเขตอำนาจของตน การที่โจทก์ไปแจ้งความต่อนายตรวจศุลกากรขอให้จับกุมผู้ลักลอบนำทองคำออกนอกราชอาณาจักร ทั้งที่โจทก์มีอำนาจจับกุมด้วยตนเองหรือมีหน้าที่แจ้งการกระทำผิดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจับกุม โดยหวังจะขอรับเงินสินบนนำจับในการที่โจทก์จะปฏิบัติหน้าที่ ข้อตกลงในการเรียกและยอมให้เงินสินบนนำจับแก่เจ้าพนักงานเพื่อปฏิบัติการตามหน้าที่ย่อมมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เพราะมีลักษณะเป็นการที่เจ้าพนักงานเรียกและรับสินบนฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา ข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินสินบนนำจับ (พิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17-18/2511)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้แจ้งความนำจับผู้ลักลอบนำทองคำออกนอกราชอาณาจักร มีสิทธิได้รับเงินสินบนนำจับ 210,509.91 บาทแต่จำเลยไม่จ่ายขอให้บังคับ

จำเลยต่อสู้ว่า ที่จำเลยยังไม่จ่ายเพราะกรมตำรวจยังพิจารณาไม่ได้ความจริงว่าใครเป็นสายลับ ถึงหากโจทก์จะเป็นผู้แจ้งความนำจับจริงก็ไม่มีสิทธิรับสินบนนำจับเพราะโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดได้ทั่วราชอาณาจักร

นายเลื่องบุญ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม อ้างว่าผู้ร้องเป็นผู้แจ้งความนำจับรายนี้ ขอให้จำเลยจ่ายเงินสินบนแก่ผู้ร้อง

ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์เป็นผู้แจ้งความนำจับ ไม่ใช่ผู้ร้องแต่เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีอำนาจและหน้าที่จับทองรายนี้ จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสินบนนำจับ พิพากษายกฟ้องและยกคำร้อง

โจทก์และผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามศาลล่างว่า โจทก์เป็นผู้แจ้งความนำจับไม่ใช่ผู้ร้อง และเห็นว่าจะนำระเบียบของกรมศุลกากรซึ่งห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งความนำจับมาใช้บังคับตัดสิทธิรับเงินค่าสินบนนำจับของโจทก์ไม่ได้ แต่คดีก็ยังมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่โจทก์เป็นนายตำรวจประจำการ มีอำนาจหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดอาญาตามกฎหมายอยู่แล้ว โจทก์จะมีสิทธิแจ้งความขอรับเงินสินบนนำจับผู้กระทำผิดเสียเองได้หรือไม่

ศาลฎีกาได้ปรึกษาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามกฎหมาย โจทก์มีหน้าที่สืบสวนเกี่ยวกับการกระทำผิดอาญา เมื่อโจทก์รู้ว่ามีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น โจทก์มีหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิด หรือมีหน้าที่ต้องแจ้งการกระทำผิดนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจับกุม หากการกระทำผิดนั้นเกิดนอกเขตอำนาจของตน การที่โจทก์ไปแจ้งความต่อนายจำเนียร นายตรวจศุลกากรขอให้จับกุมผู้ลักลอบนำทองคำออกนอกราชอาณาจักรทั้งที่โจทก์มีอำนาจจะจับกุมผู้กระทำผิดด้วยตนเองได้ หรือมีหน้าที่จะต้องแจ้งการกระทำผิดนี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจับกุมโดยหวังจะขอรับเงินสินบนในการที่โจทก์จะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งโจทก์มีอำนาจและหน้าที่จะต้องปฏิบัติอยู่แล้วข้อตกลงในการเรียกและยอมให้เงินสินบนนำจับแก่เจ้าพนักงานเพื่อปฏิบัติการตามหน้าที่ ย่อมมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเพราะมีลักษณะเป็นการที่เจ้าพนักงานเรียกและรับสินบนฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา ฉะนั้น ข้อตกลงที่จะจ่ายเงินสินบนนำจับระหว่างโจทก์กับนายจำเนียรจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินรางวัลนำจับให้โจทก์ได้

พิพากษายืน

Share