แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยยกห้องแถวให้แก่โจกท์ ถึงจะมิได้ทำหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ก.ม.ก็ดี แต่โจทก์ได้ถือสิทธิเป็นเจ้าของมากกว่า 10 ปี แม้จำเลยครอบครองอยู่ก็โดยอาศัยอำนาจของโจทก์ดังนี้ ห้องแถวนั้นย่อมตกเป็นกรรมสิทธิของโจทก์ ตาม ม.1368,1382
เช่าห้องพิพากททำการค้าอยู่ ในตลาดในทำเลการค้า การเช่าไม่ได้ทำเป็นหนังสือและผู้ให้เช่าได้บอกกล่าวให้ผู้เช่าออกแล้วดังนี้ผู้เช่าหาได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ควบคุมค่าเช่า ฯ ไม่
การที่ศาลกำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 20 บ.ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกจากห้องเช่าให้โจทก์นั้นก็เป็นจำนวนเท่ากับอัตราค่าเช่านั่นเอง เมื่อจำเลยวางศาลไว้แล้วเท่าใดแล้วก็ไม่ต้องใช้อีกเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้แสดงว่าห้องแถวเลขที่ ๕๒๘ ซึ่งปรากฎอยู่ในที่ดินของราชพัสดุ ในเชตเทศบาลเป็นกรรมสิทธิของโจทก์และขับไล่จำเลยออกไป กับให้ชำระค่าเช่าที่ค้าง ๒ เดือนรวม ๔๐ บาท กับค่าเช่าเดือนละ ๒๐ บาท จบกว่าจะออก
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับโดยชี้ขาดว่าห้องพิพาทเป็นกรรมสิทธิของโจทก์ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๒๐ บาทแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาปรึกษาว่าการยก(ห้องพิพาก) ให้นี้ปรากฎว่ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตาม ก.ม. แต่โจทก์ได้ถือสิทธิเป็นเจ้าของมากกว่า ๑๐ ปีแล้ว จำเลยครอบครองโดยอาศัยอำนาจโจทก์ ห้องพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ.ม. ๑๓๖๘,๑๓๘๒ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เมื่อห้องพิพาทเป็นกรรมสิทธิของโจทก์ ซึ่งจำเลยเป็นผู้เช่าทำการค้าและห้องพิพาทอยู่ในตลาดทำเลการค้า การเช่าไม่ได้ทำหนังสือต่อกัน จำเลยรับว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยออกจากห้องพิพาทแล้ว จำเลยจึงหามีสิทธิจะอยู่ต่อไป ส่วนค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยใช้ก็เป็นจำนวนเท่ากับอัตราค่าเช่านั้นเอง เมื่อจำเลยนำเงินมาวางศาลไว้แล้วเท่าใด ก็ไม่ต้องใช้อีกเท่านั้น
จึงพิพากษายืน