แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
หนังสือสัญญาโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า นัดโอนสิทธิการเช่าภายใน 3 เดือน เมื่อปรากฏว่าสัญญาดังกล่าวทำขึ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2534 กำหนดโอนสิทธิการเช่าซึ่งต้องกระทำภายใน 3 เดือนนั้นก็จะครบกำหนดภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2534 การที่คู่สัญญากำหนดเวลาชำระหนี้ไว้เป็นการแน่นอนตามวันแห่งปฏิทินเช่นนี้ถือได้ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอน เมื่อได้ความว่าจำเลยทั้งสามมิได้โอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์อันเป็นกรณีที่ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โจทก์ย่อมสามารถบังคับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ตั้งแต่เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วคือตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2534 อันเป็นวันที่จำเลยทั้งสามผิดนัดและโจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12
แม้การโอนสิทธิการเช่าในกรณีนี้จะต้องได้รบความยินยอมจากผู้ให้เช่าก่อนก็ตาม แต่กำหนดเวลาของการชำระหนี้โดยการโอนสิทธิการเช่านั้นเกิดจากความตกลงระหว่างบุคคลเพียง 2 ฝ่าย คือ ผู้โอนกับผู้รับโอนซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาโอนสิทธิการเช่ามิได้มีส่วนในการกำหนดเวลาในการชำระหนี้ด้วยแต่ประการใด ดังนั้น ข้อตกลงระหว่างคู่สัญญาตามสำเนาหนังสือสัญญาโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทที่ระบุให้โอนสิทธิการเช่าภายใน 3 เดือน จึงมีผลบังคับได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,708,500 บาท แก่โจทก์ โดยชำระคนละไม่เกิน 569,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,020,0000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การ คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,020,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2534 จำเลยทั้งสามโดยนายเต็มศักดิ์ตกลงขายสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์รวม 3 ห้อง เป็นเงิน 5,100,000 บาท ในวันทำสัญญาโจทก์ชำระเงินมัดจำไว้ 1,020,000 บาท ส่วนเงินที่เหลือตกลงจะชำระในวันนัดโอนสิทธิการเช่ากับทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการโอนสิทธิการเช่าแก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินมัดจำคืนพร้อมดอกเบี้ยเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า นัดโอนสิทธิการเช่าภายใน 3 เดือน เมื่อปรากฏว่าสัญญาดังกล่าวทำขึ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2534 กำหนดโอนสิทธิการเช่าซึ่งต้องกระทำภายใน 3 เดือนนั้นก็จะครบกำหนดภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2534 การที่คู่สัญญากำหนดเวลาชำระหนี้ไว้เป็นการแน่นอนตามวันแห่งปฏิทินเช่นนี้ถือได้ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอน เมื่อได้ความว่าจำเลยทั้งสามมิได้โอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์อันเป็นกรณีที่ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดดังกล่าว โจทก์ย่อมสามารถบังคับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ตั้งแต่เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วคือตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2534 อันเป็นวันที่จำเลยทั้งสามผิดนัดและโจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 ส่วนที่โจทก์อ้างในฎีกาว่าตามระเบียบข้อบังคับของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นสามารถโอนให้แก่บุคคลอื่นได้ แต่ต้องได้รับความยินยิมจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยังไม่อนุญาตให้โอนผู้โอนและผู้รับก็ไม่สามารถโอนสิทธิการเช่ากันได้แม้จะได้กำหนดเวลาโอนกันไว้แล้วก็ตาม ดังนั้น ที่กำหนดโอนกันภายใน 3 เดือน ตามสำเนาหนังสือสัญญาโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาท จึงไม่อาจถือว่ามีกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนเนื่องจากยังไม่มีความแน่นอนว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะอนุญาตให้โอนกันได้นั้น เห็นว่า แม้การโอนสิทธิการเช่าในกรณีนี้จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าก่อนก็ตาม แต่กำหนดเวลาของการชำระหนี้โดยการโอนสิทธิการเช่านั้นเกิดจากความตกลงระหว่างบุคคลเพียง 2 ฝ่าย คือ ผู้โอนกับผู้รับโอนซึงเป็นคู่สัญญาเท่านั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาโอนสิทธิการเช่ามิได้มีส่วนในการกำหนดเวลาในการชำระหนี้ด้วยแต่ประการใด ดังนั้น ข้อตกลงระหว่างคู่สัญญาตามสำเนาหนังสือสัญญาโอนสิทธิการเช่าที่ดินพิพาทที่ระบุให้โอนสิทธิการเช่าภายใน 3 เดือน จึงมีผลบังคับได้ จำเลยทั้งสามจึงมีหน้าที่จะต้องดำเนินการติดต่อขอให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ยินยอมให้จำเลยทั้งสามโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์ เมื่อได้ความว่าจำเลยทั้งสามไม่สามารถโอนสิทธิการเช่าดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ได้ โจทก์ย่อมใช้สิทธิฟ้องเรียกให้คืนมัดจำจาการผิดสัญญาดังกล่าวได้ และการฟ้องเรียกเอาเงินมัดจำคืนกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงฟ้องได้ภายในกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ซึ่งโจทก์จะต้องใช้สิทธิฟ้องจำเลยทั้งสามภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2544 แต่โจทก์จะต้องใช้สิทธิฟ้องจำเลยทั้งสามภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2545 พ้นกำหนด 10 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป”
พิพากษายืน