คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1025/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินของจำเลยเคยตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ที่ยอมให้โจทก์ใช้น้ำจากคูน้ำ อ่างเก็บน้ำ และทางเดินออกสู่ถนนสาธารณะ ต่อมาจำเลยปิดกั้นไม่ยอมให้โจทก์ใช้น้ำจากคูน้ำ อ่างเก็บน้ำ และทางเดินขอให้บังคับจำเลยยอมให้โจทก์ใช้น้ำจากคูน้ำ อ่างเก็บน้ำ และทางเดินออกไปสู่ถนนสาธารณะและนำที่ดินของจำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตามเดิม เพราะการที่โจทก์และจำเลยจดทะเบียนยกเลิกภาระจำยอมนั้นเป็นการช่วยเหลือโจทก์ให้นำที่ดินไปจำนองแก่ธนาคารโดยไม่มีเจตนาที่จะยกเลิกภาระจำยอมกันอย่างแท้จริง แม้โจทก์จะไม่บรรยายฟ้องว่าทางภาระจำยอมกว้างยาวเท่าใด เครื่องสูบน้ำอยู่บริเวณใด ก็เป็นเพียงรายละเอียด เพราะที่ดินของจำเลยเคยจดทะเบียนตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์มาก่อนแล้ว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
โจทก์ฟ้องโดยกล่าวถึงข้อเท็จจริงและวัตถุประสงค์ในการมีคูน้ำและอ่างเก็บน้ำโดยระบุว่าโจทก์จำเลยรู้ถึงวัตถุประสงค์นั้น จึงช่วยกันเฉลี่ยออกค่าใช้จ่ายในการขุดคูน้ำและทำอ่างเก็บน้ำ และศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นเรื่องการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในที่ดินของจำเลยเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ไว้ด้วย จึงเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิจารณาว่าข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฟ้องนั้นมีกฎหมายข้อใดบัญญัติให้โจทก์เกิดสิทธิในการใช้น้ำในสถานที่ดังกล่าวโดยจำเลยไม่มีสิทธิขัดขวางบ้างหรือไม่ หากมีบัญญัติไว้ศาลย่อมหยิบยกขึ้นมาปรับบทแก่คดีของโจทก์ได้ ไม่จำเป็นที่ศาลจะพิพากษาให้สิทธิโจทก์เฉพาะบทกฎหมายที่โจทก์อ้างเท่านั้น ทั้งศาลชั้นต้นก็ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้แล้วที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาในประเด็นดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อ ป.วิ.พ.มาตรา141 (5) และมาตรา 142
โจทก์และจำเลยตกลงให้มีการขุดคูน้ำ ทำท่อลอดถนน และสร้างอ่างเก็บน้ำในที่ดินของจำเลยตามที่ จ.แนะนำโดยประสงค์จะให้บุตรทุกคนที่ จ.แบ่งปันที่ดินให้ มีน้ำใช้ในการทำเกษตรกรรมในที่ดินของตน โดยให้บุตรทุกคนที่ได้รับแบ่งปันที่ดินเฉลี่ยออกค่าใช้จ่ายตามส่วนที่ได้รับที่ดิน จำเลยก็ร่วมเฉลี่ยออกค่าจ้างด้วย จนการขุดคูน้ำ ทำท่อลอดถนน และสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าวแล้วเสร็จ แสดงว่าจำเลยรับรู้เจตนาของ จ.และยอมรับการกระทำของ จ.จึงมีผลเท่ากับโจทก์และจำเลยยอมรับกันโดยปริยายว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยมีสัญญาต่างตอบแทนว่าโจทก์ทั้งสามและจำเลยมีสิทธิใช้น้ำจากคูน้ำและอ่างเก็บน้ำตลอดระยะเวลาที่โจทก์และจำเลยทำเกษตรกรรมในที่ดินของตนตลอดไป จำเลยจึงไม่มีสิทธิห้ามโจทก์ใช้น้ำดังกล่าว
การจดทะเบียนเลิกภาระจำยอมเป็นไปเพื่อช่วยเหลือโจทก์ให้สามารถนำที่ดินของโจทก์ไปจำนองแก่ธนาคารได้เท่านั้น จึงเชื่อได้ว่ามิใช่มีเจตนาจดทะเบียนยกเลิกภาระจำยอมเนื่องจากจะให้ภาระจำยอมสิ้นไปหรือโจทก์และจำเลยตกลงที่จะไม่ให้มีภาระจำยอมอีกต่อไปเพราะภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์แล้ว การจดทะเบียนเลิกภาระจำยอมด้วยเจตนาดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยกันระหว่างโจทก์และจำเลยจึงตกเป็นโมฆะ
ปัญหาที่ว่านิติกรรมใดเป็นโมฆะหรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปได้ไม่ขัดต่อ ป.วิ.พ.มาตรา 142

Share