คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1025/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์หักเงินจากที่ศาลชั้นต้นบังคับให้จำเลยชำระให้โจทก์ เป็นการหักซ้ำ เพราะศาลชั้นต้นได้เคยหักเงินจำนวนนี้ไว้แล้ว ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เงินที่ศาลชั้นต้นหักเป็นคนละจำนวนกับที่ศาลอุทธรณ์หัก จึงไม่เป็นการหักซ้ำ แต่ศาลฎีกายังมีอำนาจวินิจฉัยต่อไปได้ว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ควรหักเงินจำนวนนั้น เพราะพยานโจทก์มีน้ำหนักฟังได้ว่าจำเลยติดหนี้เงินจำนวนนั้น
คำพิพากษาของศาลชั้นต้นพิมพ์จำนวนเงิน 5,312 บาทผิดเป็น 5,213 บาท ศาลฎีกาแก้ให้ถูกต้องได้เองโดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกราคาปลาสวาย ซึ่งโจทก์ขายให้จำเลยรวม 6 ครั้งเป็นเงิน 6,352 บาท จำเลยต่อสู้ว่าไม่เคยติดค้างเงินเลย และสู้ข้ออื่นอีก

ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยติดค่าปลาที่โจทก์ส่งให้ 6 ครั้งเป็นเงิน 5,213.50 บาท (ความจริงควรเป็น 6,351.50 บาท) ให้จำเลยชำระเงิน5,213.50 บาท

จำเลยฝ่ายเดียวอุทธรณ์ว่าไม่เคยเป็นหนี้โจทก์เลย

ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงอย่างเดียวกับศาลชั้นต้น เว้นแต่การส่งปลาครั้งที่ 3 ซึ่งศาลชั้นต้นฟังว่าโจทก์ได้ส่งให้จำเลยศาลอุทธรณ์ฟังว่าโจทก์ไม่ได้ส่งปลาครั้งนี้ให้จำเลยจึงพิพากษาแก้ให้หักเงินค่าปลาครั้งนี้จำนวน 1,144 บาทออกเสีย คงให้จำเลยชำระ 4,069.50 บาท

โจทก์ฝ่ายเดียวฎีกาว่าศาลอุทธรณ์หักค่าปลาครั้งที่ 3 จำนวน1,144 บาท จากจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระ เป็นการหักซ้ำเพราะศาลชั้นต้นได้หักเงินนี้ครั้งหนึ่งแล้ว ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ศาลชั้นต้นหักค่าปลาที่ส่งกันครั้งที่ 1 จำนวน 1,040 บาท ส่วนศาลอุทธรณ์หักค่าปลาที่โจทก์ส่งครั้งที่ 3 จำนวน 1,144 บาท ไม่ใช่หักเงินจำนวนเดียวซ้ำสองครั้งดังโจทก์ฎีกา และศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า พยานโจทก์มีน้ำหนักฟังได้ว่าโจทก์ได้ส่งปลาครั้งที่ 3 ราคา 1,144 บาทให้จำเลย จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้เงินจำนวนนี้ให้โจทก์ แต่ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระเงิน 5,213.50 บาทนั้น เป็นการพิมพ์คำพิพากษาผิดพลาด ที่ถูกควรเป็น 5,312 บาทจึงให้จำเลยชำระเงิน 5,312 บาทให้โจทก์ โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143

Share