แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดต้องชำระให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำสัญญาระหว่างกัน และเป็นหนี้เงินซึ่งตาม ป.วิ.พ. ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การบังคับชำระหนี้โดยการใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้พิพากษาบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้และตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ไม่ได้บัญญัติให้จำเลยทั้งสองบังคับชำระหนี้โดยวิธีอื่นหรือโดยพลการตรงกันข้ามพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังบัญญัติไว้ในมาตรา 41 โดยกำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีบุริมสิทธิในหนี้ค่าใช้จ่ายตามาตรา 18 ไว้ เพื่อประโยชน์ในการบังคับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายนี้ แสดงว่าการบังคับชำระหนี้ก็ต้องดำเนินการโดยใช้สิทธิทางศาล นอกจากนี้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดย่อมมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลของตนในอาคารชุดและมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 13 วรรคหนึ่งด้วย จึงมีสิทธิใช้สอยทรัพย์ส่วนกลาง จำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบจะใช้วิธีการขัดขวางการใช้ทรัพย์สินส่วนกลางของโจทก์เพื่อเป็นมาตรการบังคับให้โจทก์ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์โดยพลการ
ข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที 1 ข้อ 13 และข้อ 15 ที่มีข้อความในทำนองให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิห้ามหรืองดสิทธิการใช้ทรัพย์ส่วนกลางหรือกำหนดมาตรการหรือดำเนินการตามมาตรการได้นั้น เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 จะใช้วิธีการเพื่อป้องกันการกระทำโดยไม่ชอบเท่านั้น ไม่รวมถึงการห้ามหรือขัดขวางการใช้ทรัพย์ส่วนกลาง เพื่อบังคับให้เจ้าของร่วมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แม้การจ่ายน้ำประปาไปยังให้องชุดของโจทก์ต้องใช้อุปกรณ์บางส่วนที่เป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วย จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิห้ามไม่ให้โจทก์ใช้ประโยชน์ เมื่อโจทก์ไม่ได้ผิดข้อตกลงในการซื้อน้ำประปา จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิงดจ่ายน้ำประปาแก่โจทก์
โจทก์ไม่จ่ายค่าใช้จ่ายส่วนกลางเพราะนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 นำเงินไปใช้จ่ายโดยพลการ โจทก์จะต้องว่ากล่าวดำเนินคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 เพื่อไม่ให้กระทำเช่นนั้นหรือให้ชำระค่าเสียหาย ไม่เป็นเหตุโดยชอบที่โจทก์จะอ้างขึ้นเพื่อไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในการชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่ไม่นำพา ไม่รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายร่วมกันของเจ้าของร่วมทุกคนที่ได้ใช้ทรัพย์ส่วนกลางเป็นประโยชน์ร่วมกันทุกราย จึงเป็นการกระทำที่ส่อไปในทางเอาเปรียบผู้อื่นโดยไม่ชอบและส่อไปในทางไม่สุจริตด้วย ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำการโดยไม่ชอบอันเป็นการละเมิดและผิดสัญญาซื้อน้ำประปาต่อโจทก์ แต่โจทก์มีส่วนผิดกระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและส่อไปในทางไม่สุจริต ศาลฎีกาจึงไม่กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคารชุดบางกอกริเวอร์พาร์ค เลขที่ 432 แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพมหานคร ห้องเลขที่ 432/36 (27 ดี) และห้องเลขที่ 432/90 (13 บี) พร้อมที่จอดรถยนต์ส่วนบุคคลรวมจำนวน 5 คัน และเป็นเจ้าของร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลอาคารชุด ปัจจุบันมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2539 จำเลยที่ 1 โดยนายสมบูรณ์ ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดในขณะนั้น ดำเนินการติดตั้งระบบประตูอัตโนมัติโดยพลการบริเวณทางเข้าชั้นล่างและทางเข้าออกสถานที่จอดรถยนต์ของอาคารชุดชั้น พี 3 ถึง พี 10 ปิดกั้นทางเข้าออกอาคารชุดชั้นล่างและทางเข้าออกบริเวณโถงลิฟต์อาคารชุดกับสถานที่จอดรถยนต์อาคารชุดทุกชั้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงทรัพย์ส่วนกลางและใช้เงินของเจ้าของร่วมในการติดตั้ง โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม และไม่เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบบัตรรหัสผ่านประตูอัตโนมัติและบัตรผ่านติดรถยนต์เพื่อให้โจทก์ใช้เข้าออกอาคารชุดได้โดยสะดวก นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังงดจ่ายน้ำประปาไปยังห้องชุดของโจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ห้องชุดทั้งสองห้องได้ตามปกติสุข โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือไปยังจำเลยทั้งสองให้ส่งมอบบัตรผ่านประตูอัตโนมัติ และจ่ายน้ำประปาให้แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถนำห้องชุดออกให้บุคคลอื่นเช่าได้ในอัตราเดือนละ 50,000 บาท ต่อหนึ่งห้องชุด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อถอนประตูเข้าออกอัตโนมัติที่ติดตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถรื้อถอนได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบบัตรรหัสผ่านประตูอัตโนมัติเข้าออกอาคารชุดพร้อมบัตรผ่านติดรถยนต์เท่าจำนวนที่จอดรถยนต์ของโจทก์ และจ่ายน้ำประปาไปยังห้องชุดทั้งสองห้องของโจทก์กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบบัตรผ่านประตูอัตโนมัติ บัตรผ่านติดรถยนต์และจ่ายน้ำประปาให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดพร้อมสถานที่จอดรถยนต์ส่วนบุคคลตามฟ้องจริง แต่การติดตั้งประตูอัตโนมัติเป็นการดำเนินการตามวัตถุประสงค์จำเลยที่ 1 โดยสุจริตเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของร่วมในการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย จึงไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทรัพย์ส่วนกลาง และการกระทำของนายสมบูรณ์ ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดที่สามารถกระทำได้ โจทก์ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 โดยไม่ชำระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบริการส่วนรวมตามข้อบังคับว่าด้วยเรื่องค่าใช้จ่ายของนิติบุคคลอาคารชุดหลายงวด จนคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดมอบหมายให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลให้โจทก์ชำระหนี้ที่ค้างชำระอยู่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิใช้ทรัพย์ส่วนกลางและเพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายของจำเลยที่ 1 และเจ้าของร่วมส่วนใหญ่ จำเลยที่ 1 ได้กระทำโดยสุจริตตามข้อบังคับในการระงับการใช้สิทธิของโจทก์เพื่อเรียกร้องให้โจทก์ปฏิบัติตามข้อบังคับต่อไป มิได้เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ก่อนฟ้องคดีโจทก์มิได้บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองส่งมอบบัตรรหัสผ่านประตู ทั้งจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้แทนนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำการเป็นการส่วนตัว จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อัตราค่าเช่าห้องชุดที่โจทก์กล่าวอ้างเป็นจำนวนค่าเสียหายตามคำฟ้องไม่เป็นความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบบัตรรหัสผ่านประตูอัตโนมัติพร้อมบัตรผ่านติดรถยนต์เท่าจำนวนที่จอดรถยนต์แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองจ่ายน้ำประปาแก่โจทก์ตามฟ้องด้วย เว้นแต่โจทก์ไม่ยอมชำระค่าน้ำประปา นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของห้องชุด 2 ห้อง เลขที่ 432/36 (27 ดี) และเลขที่ 432/90 (13 บี) พร้อมที่จอดรถยนต์รวม 5 คัน ในอาคารชุดบางกอกริเวอร์พาร์ค ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลอาคารชุด และจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการ เมื่อปี 2539 นายสมบูรณ์ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 ในขณะนั้น ได้ติดตั้งประตูอัตโนมัติที่บริเวณทางเข้าออกอาคารชุดชั้นล่างและทางเข้าออกที่จอดรถยนต์ โดยต้องใช้บัตรรหัสผ่านเพื่อเปิดประตูเข้าออกอาคารและบัตรผ่านติดรถยนต์เข้าออก และปรากฏว่าโจทก์ติดค้างไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง จำเลยที่ 1 จึงไม่ส่งมอบบัตรรหัสผ่านและบัตรผ่านติดรถยนต์ให้แก่โจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังงดไม่จ่ายน้ำประปาไปยังห้องชุดของโจทก์ด้วย
สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์เกี่ยวกับการติดตั้งระบบประตูอัตโนมัตินั้น ปัญหานี้ตามคำขอบังคับของโจทก์ข้อ 2 โจทก์มีคำขอว่า หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถดำเนินการรื้อถอนประตูเข้าออกอัตโนมัติได้ ให้ร่วมกันส่งมอบบัตรรหัสผ่านประตูอัตโนมัติและบัตรผ่านติดรถยนต์ให้แก่โจทก์ และในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ระบบประตูอัตโนมัตินี้หากจัดระบบบริหารที่ดีจะเป็นประโยชน์แก่เจ้าของร่วมทุกรายในเรื่องการรักษาความปลอดภัย ทั้งศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบบัตรรหัสผ่านประตูอัตโนมัติพร้อมบัตรผ่านติดรถยนต์สมประโยชน์ของโจทก์แล้ว จึงไม่เห็นสมควรวินิจฉัยให้รื้อถอนระบบประตูอัตโนมัติ แต่โจทก์ฎีกาในข้อนี้ว่า การติดตั้งระบบประตูอัตโนมัติโดยจำเลยที่ 1 เป็นการเปลี่ยนแปลงทรัพย์ส่วนกลางโดยพลการ ไม่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของร่วมตามข้อบังคับและกฎหมาย โดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งเหตุผลตามข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้นว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบเพราะเหตุใดเลย จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง และที่โจทก์ฎีกาอีกว่า การติดตั้งระบบประตูอัตโนมัตินี้ไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมและไม่ปลอดภัยหากเกิดอัคคีภัย ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง จึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมาแต่แรก ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของโจทก์ในเรื่องการติดตั้งระบบประตูอัตโนมัตินี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเพราะกระทำละเมิดต่อโจทก์ และปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิงดจ่ายน้ำประปาไปยังห้องชุดของโจทก์ได้โดยชอบตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นสมควรวินิจฉัยไปด้วยกัน ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า การที่เจ้าของร่วมรวมทั้งโจทก์มีหน้าที่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางนั้น เป็นหนี้ที่เกิดตามกฎหมายพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำสัญญาระหว่างกัน และเป็นหนี้เงินซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้บัญญัติหลักเกณฑ์การบังคับชำระหนี้โดยการใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้พิจารณาพิพากษาบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ก็ไม่ได้บัญญัติให้จำเลยทั้งสองบังคับชำระหนี้โดยวิธีอื่นหรือโดยพลการ ตรงกันข้ามพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังบัญญัติไว้ในมาตรา 41 โดยกำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีบุริมสิทธิในหนี้ค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 ดังกล่าวไว้ เพื่อประโยชน์ในการบังคับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายนี้ แสดงว่าการบังคับชำระหนี้ก็ต้องดำเนินการโดยใช้สิทธิทางศาล นอกจากนี้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดย่อมมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลของตนในอาคารชุด และมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลางด้วย ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง จึงมีสิทธิใช้สอยทรัพย์ส่วนกลางที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมนั้นด้วย ย่อมไม่ชอบที่จำเลยที่ 1 จะใช้วิธีการขัดขวางการใช้ทรัพย์สินส่วนกลางของโจทก์เพื่อเป็นมาตรการบังคับให้โจทก์ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์โดยพลการ ส่วนตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 13 และข้อ 15 ที่มีข้อความในทำนองให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิห้ามหรืองดสิทธิการใช้ทรัพย์ส่วนกลางหรือกำหนดมาตรการหรือดำเนินการตามมาตรการได้นั้น เมื่อพิจารณาถึงข้อบังคับในหมวดเดียวกันนี้ ข้อ 11 ข้อ 12 รวมทั้งข้อ 13 ก็มีข้อความกำหนดการใช้ทรัพย์ส่วนกลางของเจ้าของร่วม ต้องไม่เป็นการใช้หรือกระทำการใด ๆ อันก่อให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญ รบกวน ละเมิดสิทธิหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของร่วมในอาคารชุด และต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง รวมทั้งต้องใช้ไปตามกฎเกณฑ์ระเบียบปฏิบัติ ระยะเวลาการใช้หรือกฎเกณฑ์อื่นที่กำหนดให้ใช้ ซึ่งล้วนเป็นกรณีที่เป็นการใช้ทรัพย์ส่วนกลางโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบที่กระทบสิทธิเจ้าของร่วมรายอื่น จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 จะใช้วิธีการเพื่อป้องกันการกระทำโดยไม่ชอบนั้นเท่านั้น ไม่รวมถึงการห้ามหรือขัดขวางการใช้ทรัพย์ส่วนกลาง เพื่อบังคับให้เจ้าของร่วมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางแต่อย่างใด ดังนี้ ในกรณีการจ่ายน้ำประปาไปยังห้องชุดของโจทก์นั้น แม้การจ่ายน้ำประปาจะต้องใช้อุปกรณ์บางส่วนที่เป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วยดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาก็ตาม จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิห้ามไม่ให้โจทก์ใช้ประโยชน์ และเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ผิดข้อตกลงในการซื้อน้ำประปา จำเลยที่ 1 ก็ย่อมไม่มีสิทธิงดจ่ายน้ำประปาแก่โจทก์ ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่มอบบัตรรหัสผ่านประตูอัตโนมัติกับบัตรผ่านติดรถยนต์เข้าออก รวมทั้งการงดจ่ายน้ำประปาให้โจทก์โดยไม่ชอบ และทำให้โจทก์เสียหายนั้น โดยปกติจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายตามที่โจทก์ได้รับความเสียหายจริง แต่ตามคำเบิกความของนายวิฑูรพยานโจทก์เพียงปากเดียวว่า ห้องชุดของโจทก์สามารถนำออกให้บุคคลอื่นเช่าได้เดือนละ 62,500 บาท ถึง 125,000 บาท ก็เป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ ในเรื่องจำนวนค่าเช่า และไม่แน่ว่าจะให้เช่าได้ทุกเดือนหรือไม่ ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์เสียหายมากถึงเดือนละ 100,000 บาท ตามคำฟ้อง นอกจากนี้ยังปรากฏว่าโจทก์ไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง อันเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของโจทก์ที่ต้องชำระตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 ดังกล่าวแล้ว และที่นายวิฑูรเบิกความว่า เหตุที่โจทก์ไม่จ่ายค่าใช้จ่ายส่วนกลางเพราะจำเลยที่ 1 นำเงินไปใช้จ่ายโดยพลการนั้น หากเป็นเช่นนั้นจริง โจทก์ก็ต้องว่ากล่าวดำเนินคดีเอาแก่จำเลยที่ 1 เพื่อไม่ให้กระทำเช่นนั้นหรือให้ชำระค่าเสียหาย ไม่เป็นเหตุโดยชอบที่โจทก์จะอ้างขึ้นเพื่อไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในการชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่ไม่นำพา ไม่รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายร่วมกันของเจ้าของร่วมทุกคนที่ได้ใช้ทรัพย์ส่วนกลางเป็นประโยชน์ร่วมกันทุกราย จึงเป็นการกระทำที่ส่อไปในทางเอาเปรียบผู้อื่นโดยไม่ชอบและส่อไปในทางไม่สุจริตด้วย ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่า แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำการโดยไม่ชอบอันเป็นการละเมิดและผิดสัญญาซื้อน้ำประปาต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์น่าจะได้รับความเสียหายอยู่บ้าง แต่โจทก์มีส่วนผิดกระทำการฝ่าผืนต่อกฎหมายและส่อไปในทางไม่สุจริต จึงไม่ควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และฎีกาของจำเลยที่ 1 ชั้นฎีกาต่างฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ