คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำที่ดินพิพาท โจทก์ผู้ซื้อได้วางเงินมัดจำซึ่งถือว่าเป็นการวางประจำตามกฎหมายแก่จำเลยที่ 1ผู้ขายกับพวกรับไปแล้ว ดังนี้ แม้สัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำจะใช้บังคับไม่ได้เพราะจำเลยที่ 1 พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ในสัญญาโดยไม่มีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือก็ตาม แต่ก็ได้มีการวางประจำไว้แล้ว โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง ที่ดินพิพาททายาทยังปกครองร่วมกันอยู่ จำเลยที่ 7 และที่ 9ได้อยู่อาศัยบางส่วนในที่ดินโดยอาศัยสิทธิของบิดาของตนซึ่งเป็นทายาทรับมรดกจากนาง ส. แม้ต่อมาบิดาของจำเลยที่ 7 และที่ 9ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 7 ที่ 9 ต่างก็อยู่ในฐานะรับมรดกจากบิดาของตนกรณีไม่ใช่เป็นการครอบครองโดยปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 จำเลยที่ 7 ที่ 9 จึงอ้างสิทธิครอบครองโดยปรปักษ์ยันโจทก์ผู้ซื้อหาได้ไม่ การชำระเงินค่าที่ดินที่ค้างเป็นเรื่องการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาโดยไม่บังคับให้โจทก์ชำระค่าที่ดินที่ค้างให้จำเลยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 369 แม้จำเลยไม่อุทธรณ์ฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 นายเชย โพธิ์ศรี และนายชื่น โพธิ์ศรี ได้ร่วมกันทำสัญญาจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1962 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการให้แก่โจทก์ในราคา 400,000 บาท โจทก์ได้วางมัดจำไว้ 250,000 บาทส่วนราคาที่ดินที่เหลือ 150,000 บาท ตกลงกันว่าจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์หลังจากจำเลยที่ 1 ที่ 2นายชื่น นายเชย ดำเนินคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งถึงที่สุด เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 นายเชย และนายชื่นไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ โจทก์ทวงถามหลายครั้งจำเลยกับพวกก็เพิกเฉย ต่อมานายชื่นและนายเชยถึงแก่กรรมจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายชื่น จำเลยที่ 9 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 13 ที่ 14และที่ 15 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายเชย ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสิบห้าคนร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1962 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ หากไม่ยอมโอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย หากนิติกรรมไม่เปิดช่องให้ทำการโอนได้ ให้จำเลยทั้งสิบห้าคนร่วมกันคืนเงินมัดจำจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 มกราคม 2521 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน เป็นจำนวน 284,375 บาท รวมเป็นเงิน534,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน250,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 8 ที่ 13 ที่ 14 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 12ที่ 15 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 9 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงจะขายที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ สัญญาท้ายฟ้องเกิดขึ้นเพราะทายาทเจ้ามรดกผู้ซึ่งไม่มีสิทธิรับมรดกได้ร่วมกับโจทก์ทำการฉ้อฉลเพื่อหลอกลวงจำเลยที่ 1 และสัญญาระบุว่า โจทก์วางมัดจำไว้ 250,000บาท ส่วนที่เหลือจะชำระภายใน 2 ปี หากเลิกสัญญาวางมัดจำเพราะโจทก์ไม่ชำระค่าที่ดินที่เหลือในกำหนด ฝ่ายจำเลยก็ริบมัดจำได้สัญญาท้ายฟ้องจำเลยที่ 1 พิมพ์ลายนิ้วมือไม่มีพยานรับรองตามที่กฎหมายกำหนดจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 7 เป็นบุตรนายชื่น จำเลยที่ 9 เป็นบุตรนายเชย จำเลยที่ 7 และที่ 9ไม่ทราบว่าบิดาได้นำที่ดินไปขายให้โจทก์ จำเลยที่ 7 และที่ 9ได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยบนที่ดินมรดกโดยความสงบ โดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกิน 10 ปี จำเลยที่ 7 และที่ 9 จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง และโจทก์ชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 6ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเพียงผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 9 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกนายไพโรจน์เที่ยงตรง ผู้จัดการมรดกของนายพร้อม โพธิ์ศรี และนางโป้พรหมประเทศ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1962 ตำบลคลองด่านอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ มีชื่อนางสั้น โพธิ์ศรีและนายพร้อม โพธิ์ศรี ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เมื่อบุคคลทั้งสองถึงแก่กรรม ทายาทของนางสั้นและนายพร้อมได้ครอบครองที่ดินร่วมกันมาโดยมิได้แบ่งแยก และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนจำเลยร่วมประสงค์จดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาที่จำเลยที่ 1ที่ 2 นายชื่น โพธิ์ศรี และ นายเชย โพธิ์ศรี ทำไว้กับโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1962 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อจังหวัดสมุทรปราการ ให้โจทก์หากจำเลยไม่ยอมโอนขายให้โจทก์ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสิบห้า หากจำเลยไม่อาจโอนขายให้โจทก์ได้ ให้จำเลยร่วมกันคืนเงินมัดจำจำนวน250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2523 อันเป็นวันที่ผลคดีที่นายชม โพธิ์ศรี ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 นายเชย โพธิ์ศรี และนายชื่น โพธิ์ศรี ถึงที่สุด จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 7 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 12 และที่ 15 ยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ระหว่างไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา จำเลยที่ 11และที่ 12 ขอถอนฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 15 อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ก่อนฝ่ายจำเลยที่ 1 ยื่นฎีกา ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายแล้วระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ นางสำเภา โพธิ์ศรีบุตรของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
นางสำเภา โพธิ์ศรี ผู้เป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ผู้มรณะจำเลยที่ 7 และที่ 9 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 9 ฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 1 กับพวกได้ทำสัญญาตามฟ้องจะขายที่ดินให้โจทก์จริง จำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 9 ไม่เห็นด้วยเพราะจำเลยที่ 1ให้การต่อสู้ว่า สัญญาท้ายฟ้องเกิดขึ้นเพราะทายาทเจ้ามรดกซึ่งไม่มีสิทธิรับมรดกร่วมกับโจทก์ทำการฉ้อฉลหลอกลวง จำเลยที่ 1ซึ่งชรามากแล้ว และจำเลยที่ 1 พิมพ์ลายนิ้วมือในสัญญาไม่มีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สัญญาไม่สมบูรณ์ไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 นั้น ในปัญหาแรก ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำที่ดินพิพาทตามเอกสารท้ายฟ้องกับโจทก์จริง คงมีปัญหาที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 1 พิมพ์ลายนิ้วมือในสัญญาดังกล่าวโดยไม่มีพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือตามที่กฎหมายกำหนด สัญญาไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 วรรคสอง บัญญัติว่า “อนึ่ง สัญญาจะขายหรือจะซื้อทรัพย์สินอย่างใด ๆ ดังว่ามานี้ก็ดี คำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินเช่นว่านั้นก็ดี ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญหรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”ดังนี้ แม้สัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำที่จำเลยที่ 1 พิมพ์ลายนิ้วมือไว้จะใช้บังคับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ก็ตามแต่โจทก์ผู้ซื้อได้วางมัดจำเป็นเงินรวม 250,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการวางประจำตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 กับพวกได้รับเงินมัดจำดังกล่าวไว้แล้วตามที่โจทก์นำสืบไว้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบแก้ต่างประการใด ฟังได้ว่า โจทก์ได้วางเงินมัดจำไว้จริง สำหรับจำเลยที่ 1 แม้สัญญาจะซื้อขายจะใช้บังคับไม่ได้แต่ก็ได้มีการวางมัดจำไว้แล้ว ดังนั้นโจทก์จึงฟ้องบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสองจำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาและต้องโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
ที่จำเลยที่ 7 และที่ 9 ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการที่จำเลยที่ 7 และที่ 9 ต่างเข้าปลูกบ้านลงในที่พิพาทอาศัยมาจนบัดนี้เป็นเวลาประมาณ 20 ปี เป็นกรณีครอบครองที่ดินดังกล่าวในฐานะผู้รับมรดกตกทอด ในฐานะทายาทโดยธรรม จึงอ้างสิทธิครอบครองโดยปรปักษ์ยันโจทก์หาได้ไม่ จำเลยที่ 7 ที่ 9 ไม่เห็นด้วย เพราะที่พิพาทมีชื่อนางสั้น โพธิ์ศรี และนายพร้อม โพธิ์ศรีถือกรรมสิทธิ์เมื่อปี 2501 นางสั้นได้ถึงแก่กรรม และปี 2503นายพร้อมก็ถึงแก่กรรม แต่ไม่มีการรับมรดก จำเลยที่ 7 ที่ 9ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยปลูกบ้านอยู่อาศัยเป็นส่วนสัดโดยสงบ และเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองนั้น ในเรื่องนี้จำเลยที่ 7 ได้เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทยังเป็นชื่อของนางสั้นและนายพร้อม ยังไม่มีการเปลี่ยนชื่อ เพราะจำเลยที่ 7 และทายาทอื่นยังปกครองร่วมกันอยู่และจำเลยที่ 9 ก็เบิกความว่านายเชยบิดาจำเลยที่ 9 ได้ถึงแก่กรรมไปประมาณปี 2527 หลังจากนายเชยถึงแก่กรรม จำเลยที่ 9 ก็เข้าไปครอบครองที่ดินส่วนของนายเชยโดยเข้าครอบครองบ้านของนายเชย เห็นว่า ที่ดินพิพาททายาทยังปกครองร่วมกันอยู่ จำเลยที่ 7 และที่ 9 ได้อยู่อาศัยบางส่วนในที่ดินโดยอาศัยสิทธิของบิดาของตนซึ่งเป็นทายาทรับมรดกจากนางสั้นแม้ต่อมาบิดาของจำเลยที่ 7 และที่ 9 ถึงแก่กรรม จำเลยที่ 7 ที่ 9ต่างก็อยู่ในฐานะรับมรดกแทนที่จากบิดาของตน กรณีไม่ใช่เป็นการครอบครองโดยปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
สรุปแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 9 ฟังไม่ขึ้นแต่ที่ศาลล่างทั้งสองได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสิบห้าร่วมกันโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาโดยไม่บังคับให้โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินที่ค้างให้จำเลยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369แม้จำเลยจะไม่อุทธรณ์ฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้เพราะเป็นเรื่องการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินค่าที่ดิน จำนวน 150,000บาท ให้จำเลยด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share